พัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลมีผลทำให้ตลาดการจ้างงานส่วนหนึ่งกลายเป็นตลาดออนไลน์ ขณะที่ความเข้าใจเกี่ยวกับการจ้างงานแบบเก่าบนโลกออฟไลน์และการกำกับดูแลจากรัฐแบบเดิมๆ ไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ใหม่ๆ จากการจ้างงานที่เชื่อมต่อโลกออฟไลน์กับออนไลน์ได้
ดังนั้น สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม นำโดย ดร. เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง ‘รูปแบบการทำงานใหม่ของคนทำงานส่งอาหารที่กำกับโดยแพลตฟอร์ม’ และ ‘เศรษฐกิจแพลตฟอร์มและผลกระทบกับคนงานภาคบริการ’ ชักชวนนักวิชาการด้านกฎหมาย ผศ.ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ หัวหน้าศูนย์ศึกษากฎหมายกับเทคโนโลยี จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้วิจัยเรื่อง “การพัฒนาระบอบกฎหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กับกลุ่มแรงงานรับจ้างอิสระที่ได้รับผลกระทบจากความท้าทายในศตวรรษที่ 21” มาพูดคุยกันในงานเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “รู้จักแรงงานฟรีแลนซ์ & กรรมกรแพลตฟอร์ม” ภายใต้ซีรีย์ “แรงงานดิจิทัลในโลกทุนนิยม” เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา
บทความนี้สรุปประเด็นการพูดคุยถึงสถานการณ์ของรูปแบบงานใหม่ และปัญหาการจ้างงานอิสระที่ไม่อิสระ จากมุมมองของนักวิชาการทั้งสองท่านที่คลุกคลีกับคนงานออนไลน์ทั้งประเภทขายความคิดและขายแรงกาย เพื่อทำความเข้าใจตลาดการจ้างงานแบบใหม่ และข้อเสนอในการปรับปรุงการจ้างงานเพื่อจัดการความท้าทายใหม่ของงานบนแพลตฟอร์มดิจิทัล
เมื่อแพลตฟอร์มดิจิทัลคือ ตลาดงานรูปแบบใหม่
เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เศรษฐกิจดิจิทัล ทุนนิยมแพลตฟอร์ม หรือทุนนิยมดิจิทัล คือคำที่มักได้ยินเมื่อมีคนพูดถึงการจ้างงานแบบใหม่บนโลกออนไลน์ ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร ยกคำนิยามของ Nick Srnicek นักวิชาการด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และผู้แต่งหนังสือเรื่อง Platform Capitalism ขึ้นมาอธิบายว่า “แพลตฟอร์มหมายถึงสาธารณูปโภคแบบดิจิทัลที่มีส่วนเชื่อมโยงตัวละครต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจอย่างน้อยสองกลุ่ม”
เกรียงศักดิ์ยกตัวอย่างการทำงานของ Grab ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่คนไทยคุ้นชินให้เห็นว่า Grab มีการเชื่อมโยงคนอย่างน้อย 3 กลุ่มเข้าด้วยกัน คือ รัานอาหาร (ผู้ผลิต) คนขับรถส่งอาหาร และผู้บริโภค โดยแพลตฟอร์มทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อผู้บริโภค (ผู้จ้าง) และคนขับ (ผู้ถูกจ้าง) เข้าด้วยกัน แต่บริษัทแพลตฟอร์มเหล่านี้เป็นผู้ซื้อกำลังแรงงานเพื่อไปเสนอให้ผู้บริโภค โดยเศรษฐกิจแพลตฟอร์มจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อมีโครงข่ายการเชื่อมโยง ที่แพลตฟอร์มสามารถดึงมาใช้เพื่อสร้างนิเวศน์ธุรกิจแบบใหม่
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ เสริมว่า ธุรกิจแพลตฟอร์มในไทยเติบโตอย่างรวดเร็วมาก เมื่อมีแพลตฟอร์มเข้ามาทำหน้าที่เป็นนายหน้าคอยกระจายงานต่อให้บรรดาคนงานอิสระต่างๆ สิ่งที่ตามมาคือมีการเรียกเก็บ ‘เบี้ยใต้ถุน’ ในนามของค่านายหน้า ทำให้เกิดส่วนต่างของรายได้ที่นายจ้างจ่าย กับเงินที่คนทำได้ได้รับจริง
“แพลตฟอร์มเริ่มมาจากอินเทอร์เน็ตก่อน แล้วมีแอปพลิเคชันเข้ามาในตอนหลัง เดิมเป็นเว็บไซต์ขึ้นมาเป็นตัวกลางให้คนที่หางานรับจ้างไปฝากบัญชีหรือแอคเคานต์ไว้ คนที่จ่ายงานก็จะมาหาคนในเว็บไซต์นี้ และบางกรณีเราพบว่ามีคนที่เป็นนายหน้าหลบซ่อนอยู่ในเว็บ ปัจจุบันนายหน้าก็กลายเป็นเจ้าของแอปฯ แทน” ทศพลกล่าว

โฉมหน้าแรงงานดิจิทัล: คนงานกิ๊ก (gig worker) VS คนงานคราวด์ (crowd worker)
เกรียงศักดิ์และทศพลมีความสนใจด้านการจ้างงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นจุดร่วม แต่จุดแตกต่างคือทั้งสองคนศึกษาแรงงานคนละกลุ่ม ทศพลนั้นเป็นหัวหน้าศูนย์กฎหมายกับเทคโนโลยีที่วิจัยกับกลุ่มคนรับงานมาทำและส่งงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ที่เรียกว่า crowd worker เช่น นักเขียนหรือนักแปลฟรีแลนซ์ ซึ่งเป็นแรงงานจำพวกใช้ทักษะความคิด ‘คอปกเสื้อสีขาว’ (white-collared) ส่วนเกรียงศักดิ์มีประสบการณ์ทำวิจัยกับแรงงานระดับกรรมกรใช้แรง ‘ปกเสื้อสีน้ำเงิน’ (blue-collared) มากกว่า ผ่านการศึกษาการทำงานของคนงานขับรถส่งอาหารและคนงานในธุรกิจการดูแล เช่น เทอราปิสนวด แม่บ้านทำความสะอาด และคนดูแลผู้สูงอายุตามบ้าน ที่รับงานเป็นรายชิ้น เรียกว่า gig worker
crowd worker (หรือฟรีแลนซ์) ต่างจาก gig worker (หรือกรรมกรดิจิทัล) ตรงที่ลักษณะการหางานและการทำงาน สำหรับกลุ่มฟรีแลนซ์อาจใช้เวลาทำสัญญากันเป็นเดือนๆ เนื่องจากรับงานโครงการใหญ่ รู้จักกันในนามของที่ปรึกษา แต่กลุ่มกรรมกรดิจิทัลมีระยะเวลาการทำสัญญาก่อนเริ่มงานสั้นๆ เพียงไม่กี่วัน หรือไม่กี่ชั่วโมง แต่การทำงานแต่ละชิ้น กินระยะเวลาตั้งแต่ไม่กี่นาทีจนถึงชั่วโมงเช่นคนงานส่งอาหาร จนกระทั่งเป็นเดือนหรือปี เช่น ผู้ดูแลคนแก่ตามบ้าน ที่ทำงานแบบ ‘เดลิเวอรี่’ เมื่อแพลตฟอร์มจ่ายงานมาก็จะต้องทำทันที
ความต่างอีกประการคือ แรงงาน crowd worker มักทำงานจากระยะไกล หรือทำงานบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งคนทำงานกับผู้รับบริการไม่จำเป็นต้องเจอหน้ากัน แต่เน้นส่ง-รับงานออนไลน์ ส่วนงานของ gig worker มีทั้งงานลักษณะ ‘ตามสั่ง’ (on-demand) ครั้งเดียวจบ หรือ ‘แบบจับคู่’ (market place) ที่แม้จะมีการสั่งงานออนไลน์ แต่สุดท้ายคนทำงานกับผู้รับบริการมักต้องเจอหน้ากันในสถานที่จริง เช่น คนส่งอาหาร คนขับรถรับส่งผ่านแอปพลิเคชันอย่างอูเบอร์หรือแกร็บ หรือหมอนวดเดลิเวอรี่
ผลผลิตของโมเดลธุรกิจแบบ “lean management”
ทศพลเสริมว่าในบรรดาคนรับงานฟรีแลนซ์ทั้งหมด คนที่เป็น ‘ตัวท็อป’ มีทักษะและคอนเนคชั่นสูงก็สามารถลาออกจากงานประจำมาใช้ชีวิตอิสระอย่างสุขสบายได้ เมื่อหาคนมาทำสัญญารับช่วงต่อได้มาก คนกลุ่มนี้จะผันตัวเองกลายเป็นนายหน้าส่งงานต่อให้คนรุ่นน้อง
ปัจจุบันคนงานกลุ่มคอปกเสื้อสีขาวอาจเริ่มเข้าสู่วงจรฟรีแลนซ์ตั้งแต่สมัยเรียนผ่านการชักชวนของรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัย เช่น รับงานพิสูจน์อักษร แปลเอกสาร ทำอินโฟกราฟิก และเมื่อเรียนจบก็ยึดทางนี้เป็นอาชีพต่อ
มีอีกกลุ่มที่จำเป็นต้องเข้าสู่การเป็นฟรีแลนซ์อย่างไม่เต็มใจเช่นกัน ทศพลบอกว่า การลดต้นทุนของบริษัทบีบให้พนักงานออฟฟิศหลายรายกลายเป็น ‘ไขมันส่วนเกิน’ ที่บริษัทต้องรีดออกมาในรูปแบบการเป็นพนักงานชั่วคราว หรือเลิกจ้างให้กลายเป็นคนงานอิสระแล้วจ่ายงานให้เป็นรายชิ้นๆ ไม่ผูกมัด
“ผมฟังคำว่า lean management ทีไรก็รู้สึกหงุดหงิดขึ้นมาทันที คำนี้มาจากเมื่อก่อนโรงงานต้องทำทุกอย่างให้ ‘ลีน’ ไม่ให้มีไขมัน ไม่ให้มีส่วนเกิน ต้องให้ลดต้นทุนให้น้อยที่สุด ไม่จ้างงานประจำ ให้กลายเป็นสัญญาจ้างชั่วคราว จ้างชั่วคราวไม่พอ เลิกจ้างแล้วจ่ายงานให้ทำเป็นชิ้นๆ อีก คนกลุ่มนี้เคยอยู่ในภาวะมีงานมั่นคง มีจ้างประจำ แต่กลับมาเป็นงานแบบไม่มั่นคง จ่ายงานเฉพาะชิ้น แบบนี้จะเห็นอยู่เยอะ” ทศพลว่า

ที่มาของคนงานแพลตฟอร์มในบริบทของเศรษฐกิจไทย
“gig ในภาษาอังกฤษ อาจจะเทียบกับคำว่า ‘จ็อบ’ (job) อย่างคนที่ร้องเพลงตามร้านอาหาร ฝรั่งเขาจะเรียกว่าเป็นกิ๊กหนึ่งกิ๊ก เช่น ไปร้องเพลงที่ร้านนี้ อาจจะสองวันต่อสัปดาห์ก็เป็นกิ๊กนึง อาจจะมีหลายกิ๊ก หรือหลายจ็อบ แปลว่ามีหลายงานที่ทำ”
เกรียงศักดิ์พูดถึง ‘คนหาเช้ากินค่ำภาคออนไลน์’ ว่ามาจากหลายกลุ่ม เช่น ลูกจ้างชั่วคราวในระบบราชการ ลูกจ้างแบบเหมาช่วง (subcontract) ในโรงงาน หรือลูกจ้างเอกชนที่มีสัญญาจ้างชั่วคราวปีต่อปี คนกลุ่มนี้มีอาชีพเดิมที่ไม่มั่นคง ถึงทำงานต่อก็ไม่ก้าวหน้า หรือเผชิญกับหัวหน้างานและนายจ้างที่ใช้อำนาจเกินขอบเขต ตัดสินใจโดยไม่ให้ลูกจ้างระดับล่างมีส่วนร่วม คนงานจึงมองว่าการออกมาทำงานผ่านแพลตฟอร์มน่าจะเป็นอิสระกว่า มีรายได้ดีกว่า เก็บเงินได้มากกว่าในระยะเวลาอันสั้น จากกรรมกรบนโลกออฟไลน์จึงย้ายมาทำงานเป็นกรรมกรบนโลกออนไลน์
การทุ่มตลาดของแพลตฟอร์ม ที่ทำให้ค่าจ้างในช่วงแรกดูสูงกว่าความเป็นจริง จนปัจจุบันบริษัทแพลตฟอร์มมีการปรับลดค่าบริการลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับการกำกับดูแลพฤติกรรมของคนทำงานที่นับวันยิ่งออกกฎเกณฑ์ออกมารัดรึงจนคำว่างานอิสระดูไม่อิสระอีกต่อไป
“ตอนนี้เราเห็นแล้วว่ากลุ่มคนส่งอาหาร กลุ่ม Grab หรือ Uber ได้ค่าส่งลดลง และเริ่มมองเห็นว่าอัตราที่ควรจะเป็นนั้นกดขี่มาก อีกเรื่องใหญ่คือในความเป็นจริงแอปพลิเคชันแทบจะชี้นิ้วสั่งว่าคุณต้องทำอะไร” เกรียงศักดิ์อธิบาย
ที่มาอีกเส้นหนึ่งสู่การเป็นแรงงานดิจิทัล คือ คนที่เดิมไม่เหมาะกับการจ้างงานเต็มเวลาในบริษัทหรือโรงงาน เพราะมีภาระบางอย่างต้องดูแล เช่น คนที่ต้องดูแลเด็กหรือพ่อแม่ที่แก่ไปด้วย หรือคนชราที่เกษียณอายุ ก็สามารถทำงานบนแพลตฟอร์มเป็นรายได้เสริม แต่คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้มีจำนวนมาก และไม่ได้สร้างเม็ดเงินในทางเศรษฐกิจได้มากอย่างที่นักวิชาการบางกลุ่มหรือภาคธุรกิจได้ชื่นชมไว้
“ประเด็นที่อยากเน้น คือ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ทำให้เกิดการจ้างงานยืดหยุ่นในองค์กร เช่น ทำไมองค์กรภาครัฐและมหาวิทยาลัยจำนวนมากจำเป็นต้องจ้างงานแบบชั่วคราว เพราะมีส่วนผลักดันให้เกิดการจ้างงานที่ไม่มั่นคงมากขึ้น และสุดท้ายก็ผลักคนออกไปทำงานกับแพลตฟอร์ม”
ปัญหาใต้พรมของ “แรงงานอิสระ–ชีวิตที่ออกแบบได้”
“ก่อนหน้าที่จะมีอินเทอร์เน็ต เป็นเรื่องยากที่จะหาใครสักคนแล้วก็จับให้เขานั่งลงทำงานให้เราสิบนาที หลังจากทำงานเสร็จก็ไล่เขาออกซะ แต่ด้วยเทคโนโลยี เราสามารถทำแบบนั้นได้ในตอนนี้” — Lukas Biewald ผู้บริหารบริษัทแพลตฟอร์มด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล Crowdflower
เกรียงศักดิ์เริ่มต้นด้วยการเปรียบเทียบเวลาทำงานและค่าจ้างของการจ้างงานแบบดั้งเดิมและการจ้างงานบนแพลตฟอร์ม โดยมองว่าสัญญาจ้างในอดีตครอบคลุม ‘ทุกอย่างที่เราทำก่อนไปถึงออฟฟิศและนั่งลงทำงาน’ เช่น การตื่นเช้า อาบน้ำ แต่งตัว กินข้าว และเดินทาง เพราะสัญญาจ้างแบบเดิมตีความการเป็นลูกจ้างของสถานประกอบการนั้นทั้งเดือน หรืออย่างน้อยตลอดเวลาที่ยังเป็นลูกจ้าง-นายจ้างกันอยู่ ในขณะที่การจ้างงานแบบฟรีแลนซ์ คนงานจะได้ค่าจ้างก็ต่อเมื่อนั่งลงทำงาน เมื่อคลิกส่งงานก็ถือว่าความผูกพันสิ้นสุดลง
“ถ้าเปรียบเทียบกับคนที่ส่งอาหาร คนส่งอาหารออกจากบ้าน ตื่นเช้าแต่งตัว ขี่มอเตอร์ไซต์ออกไป (บริษัทแพลตฟอร์ม) ยังไม่ถือว่าพวกเขาทำงาน ยังไม่ได้ค่าจ้างนะครับ งานเขาเริ่มเมื่อตอนที่เขากดรับงานและเมื่อเขาส่งอาหารเสร็จ เขากดปิดงานก็จบ นั่นคืองานในความหมายใหม่ เขาได้ค่าจ้างแค่นั้น ส่วนที่นอกเหนือจากตรงนั้นเขาไม่ได้ค่าจ้างเลย”
ทศพลช่วยสรุปว่า ปัญหาของคนทำงานออนไลน์มีอยู่ 4 ประการหลัก คือ เป็นการจ้างงานยืดหยุ่น ซึ่งเป็นการจ้างงานที่ไม่มั่นคง, ได้รับค่าตอบแทนไม่แน่นอน ไม่มีพื้นฐานค่าแรงขั้นต่ำรองรับ, คนงานต้องรับผิดชอบความเสียหายจากการทำงานเอง เพราะเป็นสัญญาจ้างทำของ และไม่มีหลักประกันสิทธิประกันสังคม เมื่อต้องเข้าสู่มาตรา 39 หรือ 40 คนก็มักเลือกซื้อประกันเอกชนมากกว่า
การตีความตามกฎหมายและการเข้าไม่ถึงสวัสดิการ
ในแง่กฎหมาย ทศพลตีความการจ้างงานบนอินเทอร์เน็ตว่าเข้าข่ายเป็นสัญญาจ้างทำของมากกว่าสัญญาจ้างแรงงาน ทำให้คนงานไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานและ พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ ซึ่งวางกฎเกณฑ์เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ สวัสดิการ สภาพการทำงาน และรับรองสิทธิในการรวมกลุ่มเป็นสหภาพเลย
“เรื่องสวัสดิการก็เถียงกันอยู่ว่าคนทำงานจะเข้าตามมาตราอะไร จะใช้สวัสดิการจากกองทุนประกันสังคมของรัฐอย่างไร เรามองว่าถ้าในอดีตเคยมีนายจ้างมาก่อน แต่ปัจจุบันเป็นแรงงานอิสระก็อาจเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ซึ่งคงสถานะเหมือนเป็นแรงงาน มีสิทธิประโยชน์ค่อนข้างครบ ใกล้เคียงกับมาตรา 33 เพียงแต่ไม่มีนายจ้างช่วยจ่ายสมทบ” ทศพลกล่าว
“แต่ที่น่าเศร้าคือมาตรา 40 ต้องจ่ายเอง ที่กระทรวงแรงงานชอบโปรโมตว่ามาเข้าระบบเถอะ มาช่วยกันสมทบแล้วจะดูแลคุณ บางคนบอกว่าทำไมสิทธิประโยชน์ได้ไม่เท่ากัน ทั้งที่เป็นสิ่งที่ฟรีแลนซ์อยากได้ที่สุด นั่นคือการประกันรายได้ การมีเงินชดเชยช่วงตกงาน เมื่อไม่ได้ฉะนั้นเขาก็ไม่เข้าเป็นผู้ประกันตนตั้งแต่ต้น เขาจะเก็บเงินไว้เยอะๆ ซื้อประกันเอกชนดีกว่า”

ธรรมชาติของงาน ความเสี่ยงและความไม่แน่นอน
เกรียงศักดิ์เสริมว่า การทำงานผ่านแอปพลิเคชันของคนงาน gig เช่น คนงานส่งอาหารต้องเผชิญความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูง โดยที่บริษัทอ้างว่าคนงานเหล่านี้ไม่มีสถานะเป็นพนักงาน จึงไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ
“คนงานส่งอาหารเผชิญความเสี่ยงจากระบบตลาด เช่น การได้ค่าตอบแทนเป็นชิ้น บางวันงานเยอะ บางวันงานน้อย ในวันที่ไม่มีงานเขาก็มีความกังวลใจ เพราะจะไม่มีรายได้ เขาก็รู้สึกเคร่งเครียดในการส่งอาหารเร็วๆ เพื่อจะได้รอบมากๆ ความเครียดและความกังวลมีผลต่อสุขภาพร่างกายค่อนข้างมาก มีผลต่ออุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นระหว่างทำงาน ซึ่งเมื่อกี้ผมบอกไปแล้วว่าบริษัทเหล่านี้ก็จะมองว่างานของคุณจบลงเมื่อคุณปิดแอปฯเท่านั้น เพราฉะนั้นหากส่งงานเสร็จ หรือขี่มอเตอร์ไซค์กลับบ้าน บริษัทก็มองว่าไม่ใช่อุบัติเกิดจากการทำงาน บางครั้งบริษัทเลือกที่จะปฏิเสธจ่ายเงินช่วยเหลือ”
นอกจากชีวิตไร้หลักประกัน ความเป็นอิสระที่เคยเป็นสโลแกนหลักที่ช่วยดึงดูดคนงานจำนวนมากให้ออกมาเป็นแรงงานนอกระบบก็กลายเป็นกรงอีกใบหนึ่งที่ครอบคนทำงานไว้ไม่ให้เข้าถึงการทำงานที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง
ทศพลกล่าวว่า “ในมุมหนึ่ง เขาอาจจะบอกว่ามหาวิทยาลัยประสบความสำเร็จที่ผลิตคนเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เยอะ แต่ในทางกลับกัน มันกลับเพิ่มคนที่เข้าไปแข่งกันลดค่าจ้าง ยังไม่พอ แรงงานยังพยายามจะเอาอกเอาใจผู้จ้างงานเต็มที่ จากชีวิตที่ออกแบบได้ ตอนหลังกลายเป็นชีวิตที่ต้องออกแบบให้ตามผู้จ้างงาน”
ทศพลยกตัวอย่างฟรีแลนซ์ที่ภูมิใจใน ‘ชีวิตที่ออกแบบได้’ เช่น สามารถจองตั๋วเครื่องบินและโรงแรมล่วงหน้าในราคาถูกเพราะสามารถกำหนดเวลาทำงานของตัวเองได้ จึงไม่จำเป็นต้องแออัดเบียดเสียดกับมนุษย์ออฟฟิศคนอื่นๆ ที่มีเพียงวันหยุดเสาร์อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ แต่สุดท้ายก็พบว่าตัวเองต้องยกเลิกทริปท่องเที่ยวของตัวเองกะทันหันเพราะมีงานด่วนเข้ามา หรือได้ไปเที่ยวแบบต้องหอบงานไปทำด้วย
“เขาบอกว่าชีวิตเลือกได้ แต่ในความเป็นจริงเขาไม่รู้ว่าอยู่ดีๆ งานจะเข้ามาตอนไหน ถ้างานเข้ามาแล้วไม่รับจะทั้งเสียรายได้และเสียความสัมพันธ์ เสียความรู้สึกไว้วางใจของคนที่มาเรียกใช้งาน ว่า เฮ้ย! คนนี้เรื่องมาก คนนี้ไม่ได้ตลอดเวลา เอ้ยคนนี้มันเที่ยวก่อนค่อยทำงานทีหลัง สุดท้ายต้องให้คนอื่นไปเที่ยวแทน ตัวเองทำงานผลิตเงิน”
ความไม่อิสระไม่ใช่เพียงแค่การไม่สามารถเลือกเวลาทำงาน-เวลาพักผ่อนได้เท่านั้น คนงานระดับกรรมกรออนไลน์ยังต้องทำตามการควบคุมจากอัลกอรึทึมและการกล่อมเกลามารยาทของบริษัท เช่น ต้องเดินทางด้วยเส้นทางใด ไปถึงบ้านลูกค้าแล้วต้องทำอย่างไร เจอผู้รับสินค้าแล้วต้องทำอย่างไรต่อ หรือต้องพูดจาอย่างไรกับลูกค้าบ้าง เช่น คนงานในสหรัฐต้องเรียกผู้โดยสารว่าคุณ (sir) และคุณผู้หญิง (ma’am) หากไม่ทำจะมีผลต่อการประเมินคนทำงาน มีผลต่อการหักค่าตอบแทน หรือถูกปิดงานในแอปพลิเคชันได้ การควบคุมทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในสถานะที่บริษัทพยายามย้ำอยู่เสมอว่า คนทำงานมิใช่ลูกจ้าง และบริษัทก็ไม่ใช่นายจ้าง
ภารกิจของบริษัท–รัฐ–และแรงงาน เพื่อปรับปรุงสภาพการจ้างงานออนไลน์
ความขัดแย้งที่น่าสนใจคือ ถึงแม้จะเผชิญข้อจำกัดหลายประการในอาชีพ คนทำงานหลายคนก็ไม่ได้ต้องการกลับไปเป็นลูกจ้างประจำของบริษัทแพลตฟอร์มแต่อย่างใด ความพยายามที่จะถกเถียงกันว่าควรมีการขึ้นทะเบียนบริษัทแพลตฟอร์มให้ถูกกฎหมายหรือไม่ก็เป็นเพียงการหาคำตอบแบบ ใช่-ไม่ใช่ โดยแทบไม่มีการหารือว่าหากจะให้ถูกกฎหมายแล้ว กฎหมายนั้นควรมีลักษณะอย่างไร จะกำหนดขอบข่ายความรับผิดชอบของบริษัทแพลตฟอร์มต่อผู้เกี่ยวข้องคนอื่นๆ อย่างไร สุดท้ายการแก้นิยามคำว่าลูกจ้าง ใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานอาจไม่สอดรับกับสิ่งที่คนงานทั้งสองกลุ่มต้องการ เพราะคนงานออนไลน์หลายกลุ่มก็ยังอยากคงความเป็นอิสระในการทำงานไว้ ไม่อยากกลับมาผูกติดกับนายจ้าง
เกรียงศักดิ์เสนอว่า ในต่างประเทศมีการกำหนดกติกาการจ้างงานของบริษัทแพลตฟอร์มไว้ค่อนข้างชัดเจนกว่าไทย ซึ่งรัฐอาจนำมาใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายการจ้างงานแพลตฟอร์มในไทยได้ เช่น แคนาดากำหนดว่าหากคนงานรับส่งงานให้นายจ้างรายเดียวเป็นเวลานานพอสมควร ก็อาจเข้าข่ายแรงงานประเภท ‘สัญญาจ้างแบบพึ่งพา’ (dependent contractor) ไม่ใช่พนักงานสัญญาจ้างอิสระ (independent contractor) ซึ่งกำหนดให้ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดชอบผู้รับงานมากกว่าเดิม อาทิ ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนเลิกจ้าง หรือเลิกจ้างแล้วต้องจ่ายค่าชดเชย
หรือในบางประเทศมีการถกเถียงกันว่า ไม่ต้องรับคนทำงานแพลตฟอร์มเป็นพนักงานก็ได้ ขอแค่ให้คนกลุ่มนี้มีสิทธิในการสมาคมและรวมตัวกัน เพื่อที่จะเจรจาต่อรองร่วมในระบบไตรภาคี รวมถึงมีการเรียกเก็บภาษีจากผู้ประกอบการแพลตฟอร์มมาจ่ายชดเชยให้คนทำงานที่ประสบอุบัติเหตุหรือเกิดปัญหาทางสุขภาพ เหมือนเช่นในฝรั่งเศส
เกรียงศักดิ์เน้น “เนื่องจากความต้องการของกลุ่มฟรีแลนซ์ต่างจากกลุ่มคนงานแพลตฟอร์ม ดังนั้น การร่างกฎหมายใหม่จะต้องนึกถึงความสัมพันธ์ใหม่ในมุมมองที่กว้างขึ้น ไม่เฉพาะเรื่องฐานะการเป็นลูกจ้าง-นายจ้างอย่างเดียว แต่ต้องพูดเรื่องภาษี เรื่องของสิทธิ สวัสดิการต่างๆ ของคนทำงานไปพร้อมกัน”
ในฐานะนักวิจัยที่ทำงานกับกรรมกรดิจิทัลมาหลายฉบับ เกรียงศักดิ์ชี้ว่าภาครัฐสามารถเข้ามาจัดการปัญหาสภาพการจ้าง สวัสดิการและความปลอดภัยในการทำงาน โดยเข้ามากำกับดูแลการจ้างงานของแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ เนื่องจากมาตรฐานการจ้างงานในประเทศไทยปัจจุบันยังต่ำมาก นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริมการลดช่องว่างทางเทคโนโลยี (technological gap) เพื่อให้ชนชั้นล่างอีกจำนวนมากสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการหางานได้
“ส่วนในระยะยาวยังมีทางเลือกหลากหลาย ในขณะที่เราไม่สามารถที่จะหยุดการเติบโตของแพลตฟอร์มได้ การเอาเทคโนโลยีมาอยู่ในมือของคนทำงานให้มีอำนาจมากขึ้นในการกำหนดค่าตอบแทน รูปแบบการทำงาน หรือแม้แต่การบริหารการจัดการแพลตฟอร์มด้วยตนเองอาจฟังดูเป็นไปได้ยาก แต่จริงๆ ในต่างประเทศเกิดขึ้นจำนวนมาก”
ในยุโรปมีการเสนอความคิด ‘สหกรณ์แพลตฟอร์ม’ (Platform Cooperativism) ที่ช่วยให้คนทำงานสามารถเข้ามาหาสมัครสมาชิกเพื่องานทำได้ ยิ่งไปกว่านั้นแพลตฟอร์มยังช่วยประสานด้านเอกสารให้คนงานเหล่านี้เข้าถึงระบบประกันสังคม วีซ่า ภาษี ฯลฯ และให้คนงานสามารถบริหารกระแสเงินได้เองอีกด้วย อันเป็นการก้าวข้ามบทบาทนายหน้าของแพลตฟอร์มมาเป็นการทำงานแบบ ‘ฝ่ายบุคคลออนไลน์’ หรือในบางประเทศก็มีการตั้งธุรกิจแพลตฟอร์มที่คนงานเป็นเจ้าของเองโดยสมบูรณ์ก็มี
หลักประกันรายได้ของฟรีแลนซ์
สำหรับฟรีแลนซ์ที่ยังกังวลเรื่องความเป็นอิสระและความเป็นส่วนตัว ข้อเสนอที่ต้องการให้ภาครัฐยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือแบบไม่มากไม่น้อยไป คือ การจ่าย Universal Basic Income (UBI) ต่อเดือนอย่างเสมอหน้าให้กับทุกคนในสังคม โดยไม่ต้องมีการระบุเลขบัญชี เพื่อป้องกันรัฐเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เลขบัญชี ชื่อสกุลในบัญชี ไปจนถึงการแสดงออกทางการเมืองของชื่อเจ้าของบัญชีดังกล่าว
“เพื่อให้ฟรีแลนซ์ก้าวข้ามความกังวลเรื่องยอดคลิก/ ยอดไลก์ เมื่อมี UBI หากนักเขียนฟรีแลนซ์อยากเขียนบทสารคดีหนักๆ ไม่ใช่ดราม่าสร้างกระแสสังคมหรือขายอาร์ตเวิร์กโฆษณาเพื่อเพิ่มยอดก็ย่อมได้ เขาอยากมีชีวิตของเขาบ้างโดยไม่ต้องกังวลกับเป้าหมายยอดไลก์ที่ต้องทำให้ได้ในแต่ละวัน ซึ่งพ่วงอยู่กับรายได้ของฟรีแลนซ์บางกลุ่ม”ทศพลว่า
เขาบอกว่าข้อเสนอของเขาอาจฟังดูหลุดโลก แต่การผลักดันสวัสดิการของกลุ่มฟรีแลนซ์จำเป็นต้องพึ่งพรรคการเมืองที่เชื่อในแนวคิด UBI หาเสียงจากกลุ่มฟรีแลนซ์แล้วกลับไปผลักดันประเด็นเงินเดือนพื้นฐานจากรัฐเข้าสู่สภา
“ในระดับโลก แพลตฟอร์มรายใหญ่มีรายได้จากข้อมูลของคนงานและผู้บริโภค จะเห็นแล้วว่ารัฐบาลจะเป็นตัวแทนประชาชนทั้งสังคม จะต้องไปจัดเก็บภาษีหรือตกลงกับบริษัท ว่าจะทำยังไงทำให้ข้อมูลเหล่านี้กลายเป็นเงินจ่ายกลับไปที่ประชาชนเจ้าของข้อมูลโดยตรง หรือรัฐจัดเก็บมาเป็นรายได้หรือภาษี แล้วไปจัดสวัสดิการให้ประชาชนหรือคนทำงานเพลตฟอร์มมากขึ้น บทบาทที่รัฐมีแต่ประชาชนทำไม่ได้ คือการเจรจาและต่อรองกับบริษัท” ทศพลกล่าว
การรวมกลุ่มของคนงานส่งอาหาร
เกรียงศักดิ์กล่าวว่า ในขณะที่ยังไม่มีการแก้ปัญหาจากภาครัฐอย่างเป็นทางการ คนงานส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันในไทยก็มีการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกันเอง (mutual aid) แบบหลวมๆ ในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลเส้นทาง หรือรวบรวมเงินบริจาคแก่สมาชิกที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานแล้วบริษัทปฏิเสธที่จะรับผิดชอบ ถึงกระนั้นเกรียงศักดิ์ยังมองว่าการรวมตัวไม่ได้ช่วยอะไรมาก เพราะบริษัทเองก็ไม่ได้มีระบบหรือเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ขับอย่างเป็นกิจจะลักษณะ อีกประการหนึ่งคือคนงานที่รวมกลุ่มกันก็ยังมองว่าไม่ควรต่อต้านบริษัท เพราะอาจถูกปิดแอปฯ เสี่ยงตกงานได้
“การตกงานจากอาชีพบนแพลตฟอร์มมีความเสี่ยงสูงกว่าในระบบโรงงาน เพราะในระบบโรงงาน คนงานยังสามารถที่จะเขียนคำร้องไปถึงศาลได้ แต่ถ้าคนกลุ่มนี้หากถูกปิดแอปฯ ก็จบเลย ไม่มีช่องทางของการเรียกร้อง และแทบจะไม่มีอำนาจการต่อรองรวมกลุ่ม” เกรียงศักดิ์ชี้
ในขณะที่ทศพลเปิดเผยข้อมูลอีกด้านของคนงานฟรีแลนซ์ว่าไม่สามารถรวมกลุ่มกันเหมือนคนงานส่งอาหารได้ เพราะการทำงานต้องใช้ความคิดแข่งขันกันสูง การรวมกลุ่มอาจหมายถึงความเสี่ยงที่จะถูกขโมยผลงาน หรือหากรวมกันได้ ก็ไม่ได้มีกฎหมายรับรองเหมือนอย่างคนงานในโรงงานหรือบริษัททั่วไปว่า หัวหน้ากลุ่มที่ชักชวนคนทำงานมารวมกลุ่มกันจะไม่ถูกไล่ออกจากงาน
“แต่ปัจจุบันผู้บริโภคฉลาด ตามข่าวตลอด เช่น บริษัทไหนมีพฤติกรรมที่เลวร้ายกับคนงาน เขาก็จะไม่อุดหนุน เชื่อว่าแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตไม่ได้ทำหน้าที่แค่แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ แต่ว่าแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารได้ด้วย ทำให้การพูดเรื่องแรงงาน สังคม ความเป็นธรรม เป็นเรื่องที่เท่ที่คนรุ่นใหม่ต้องพูดถึง ผมมองว่าเป็นความหวังของคนรุ่นใหม่อีกแบบนึง” ทศพลว่า
โลกดิจิทัลอาจเป็นพื้นที่สร้างอาชีพ และทำให้เกิดธุรกิจเพื่อสังคมใหม่ๆ บนแพลตฟอร์มได้ (หนึ่งในนั้นอาจเป็นแอปพลิเคชันเพื่อสิทธิแรงงานอย่างที่ทศพลหวังไว้ก็ได้ ใครจะรู้) ก็จริง แต่การจ้างงานบนแพลตฟอร์มยังมีช่องว่างอีกมากให้บริษัท-รัฐ-และเราร่วมปรับปรุง เพื่อให้ฝันถึงงานอิสระที่มีความเป็นธรรมของคนงานดิจิทัลกลายเป็นจริง ไม่ใช่ฝันที่ไกลเกินเอื้อม