สรุปเสวนาในซีรีส์ “การเมืองเรื่องกรรมกร” ตอน “สิทธิประกันสังคมที่เราต้องการในภาวะ COVID-19″ (วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 เวลา 18.00-20.00 น.)
อุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากประกันสังคม
สิทธิประกันสังคมน้อยและไม่รอบด้านอยู่แล้วในช่วงก่อน Covid
ธนพร วิจันทร์ กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่าในภาวะปกติ ผู้ประกันตนมาตรา 33 ก็ได้รับสิทธิประโยชน์ทั้ง 7 ประการ (ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร เกษียณอายุ ว่างงาน) น้อยอยู่แล้ว เมื่อความขาดในยามปกติมาเจอกับความไม่ครบถ้วนของวิสัยทัศน์ผู้ประกาศนโยบายในช่วงวิกฤต Covid-19 ก็ทำให้เกิดปัญหาหลายด้าน เช่น ทำให้ผู้ประกันตนเกิดความสับสนและสุดท้ายก็ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิของตัวเองในยามวิกฤตได้
เซีย จำปาทอง สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่าตนและสมาชิกสหพันธ์ฯ ได้เสนอให้สำนักงานประกันสังคมเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตน เช่น สิทธิเมื่อว่างงาน สิทธิบำนาญ สิทธิสงเคราะห์บุตร โดยได้เสนอไปหลายครั้ง รวมถึงครั้งที่สำนักงานประกันสังคมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกันตนเมื่อปี 2560 แต่ก็ยังไม่เห็นผลชัดเจน
เซียระบุว่า สมาชิกสหพันธ์ฯ ได้รับผลกระทบจากโรค Covid-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรง เช่น ถูกปิดงานตามมาตรา 75 หรือถูกเลิกจ้างแล้วรอรับเงินสิทธิประโยชน์ 62% จากประกันสังคม ส่วนทางอ้อม เช่น โรคระบาดทำให้แรงงานรู้สึกอยากมาใช้สิทธิรักษาพยาบาลลดลง เนื่องจากมองว่าโรงพยาบาลเป็นแหล่งเสี่ยงติดเชื้อ อีกทั้งผู้ประกันตนหลายคนยังรู้สึกว่าสิทธิรักษาพยาบาลเดิมที่ได้รับจากประกันสังคมไม่ได้คุ้มค่าเท่าที่ควร
ไม่ครอบคลุมแรงงานข้ามชาติ-แรงงานบนที่สูง
ปัญหาของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยและแรงงานชาติพันธุ์บนที่สูงที่เกี่ยวกับสิทธิประกันสังคมอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ไม่มีสิทธิขึ้นทะเบียนในระบบประกันสังคมตั้งแต่ต้น และกลุ่มที่เข้าข่ายขึ้นเป็นผู้ประกันตนได้
มงคล ยางงาม กลุ่มแรงงานเพื่อสังคม กล่าวว่า แรงงานกลุ่มแรกได้แก่แรงงานข้ามชาติแบบมาเช้า-เย็นกลับตามมาตรา 64 ที่โดยปกติกฎหมายกำหนดให้นายจ้างนำแรงงานข้ามชาติขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน แต่ด้วยความคลุมเครือของลักษณะการจ้างงานแบบชั่วคราว 3 เดือนของแรงงานตามมาตรา 64 ทำให้นายจ้างและเจ้าหน้าที่รัฐปฏิเสธที่จะนำส่งรายชื่อ แรงงานแบบมาเช้า-เย็นกลับจึงไม่ถูกนับเป็นแรงงานที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมได้
ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา ที่ปรึกษาจัดตั้งแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เสริมว่า แรงงานข้ามชาติบางคนที่ทำงานในกิจการที่กฎหมายไม่ได้บังคับให้นายจ้างต้องนำแรงงานขึ้นทะเบียน เช่น แรงงานภาคการเกษตรในสวนดอกไม้หรือสวนลำไย ก็อาจไม่ได้ขึ้นเป็นผู้ประกันตนด้วยเช่นกัน
ศุกาญจน์ตาเปรียบว่า แรงงานจากพื้นที่สูงและแรงงานข้ามชาติถูกมองเสมือนเป็น ‘ผี’ ที่ไม่มีตัวตนในสังคม เพราะแม้คนบนที่สูงบางคนจะเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39-40 ที่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือจากโครงการ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ แต่ก็ไม่มีเลขบัตรประชาชน 13 หลัก บางคนก็ทำงานให้นายจ้างรายย่อยในธุรกิจเล็กๆ เช่น แม่บ้าน ก่อสร้าง ร้านอาหาร แรงงานและนายจ้างกลุ่มนี้มีกำลังส่งเงินสมทบได้ไม่มาก เมื่อได้รับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมก็ได้ในสัดส่วนไม่มากเช่นกัน ทั้งที่แรงงานข้ามชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ และคนบนที่สูงในภาคเหนือส่วนมากเป็นผู้หญิงที่ประกอบอาชีพลูกจ้างทำงานบ้านและลูกจ้างกลุ่มอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น พนักงานโรงแรมและซักรีด ซึ่งได้รับผลกระทบจาก Covid-19 มาก
“ภาครัฐก็ควรเร่งหาวิธีเยียวยาแรงงานข้ามชาติ แรงงานชาติพันธุ์ และแรงงานจากพื้นที่สูงให้เท่าเทียมกับคนไทย ไม่ควรเลือกปฏิบัติ” ศุกาญจน์ตาสรุป
ความช่วยเหลือมาล่าช้า มีขั้นตอนยุ่งยาก
ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา และธนพร วิจันทร์ เห็นตรงกันว่าอุปสรรคสำคัญอีกประการ คือ การบริหารที่ล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพของรัฐ เธอมองว่าการบริหารงานแบบราชการที่ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนเป็นอุปสรรคที่ทำให้การทำงานของสำนักงานประกันสังคมไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาจริง
“จะเห็นว่ารัฐบาลประกาศให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินแก่ผู้ประกันตนเป็นเวลา 3 เดือน คือมีนาคม-พฤษภาคม แต่ขนาดใกล้สิ้นเดือนพฤษภาคมแล้ว คนงานอีกมากยังไม่ได้จับเงินเดือนแรก” ธนพรว่า
ศุกาญจน์ตาตั้งข้อสังเกตว่า สำนักงานประกันสังคมมีข้อมูลผู้ประกันตนในระบบอยู่แล้ว ไม่ควรตรวจสอบสิทธิซ้ำอีก นอกจากนี้ผู้ประกันตนมาตรา 33 บางรายเจอปัญหาว่านายจ้างสั่งปิดงานชั่วคราว แต่ไม่ได้จ่ายค่าแรง 75% ของค่าจ้างรายวันให้ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน เมื่อแรงงานที่ได้รับค่าจ้างเพียง 50%ไปร้องขอใช้สิทธิกับประกันสังคม ขั้นตอนต่อมาคือเจ้าหน้าที่ประกันสังคมจะติดต่อกลับมายังนายจ้างเพื่อตรวจสอบว่าได้ปิดงานจากเหตุสุดวิสัย Covid-19 จริง ซึ่งนายจ้างหลายรายไม่ต้องการให้มีการตรวจสอบขั้นตอนที่ต้องพึ่งพาเอกสารรับรองจากนายจ้างกลายเป็นข้อขัดขวางไม่ให้แรงงานเข้าถึงสิทธิ
“ระเบียบขั้นตอนต่างๆ ในการรับเงินเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิของพวกเขามาก เพราะเมื่อไปยื่นขอใช้สิทธิหยุดงานจากเหตุสุดวิสัยและรับเงินชดเชย 62% ของค่าจ้าง จะต้องได้รับการรับรองจากนายจ้าง แต่เราพบว่านายจ้างหลายรายไม่ต้องการให้ลูกจ้างไปแจ้งขอรับสิทธิ ใครไปแจ้งก็จะหาเรื่องไล่ออกเลย”
ศรีไพร นนทรีย์ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียงยังกล่าวอีกว่า การกำหนดขั้นตอนให้ผู้ประกันตนต้องร้องเรียนก่อนจึงจะได้รับสิทธิ และการสั่งการแบบระบบราชการจากบนลงล่างทำให้เกิดความสับสนไม่แน่นอน เกิดเป็นปัญหาการทำงานล่าช้าที่สำนักงานประกันสังคมควรเร่งแก้ไขเป็นอันดับต้นๆ เพราะทำให้ผู้ประกันตนไม่ได้รับสิทธิ ได้รับสิทธิยากลำบาก หรือได้รับสิทธิช้ามากจากขั้นตอนการร้องเรียนที่กินเวลานานนับปี
“อย่างกรณีมีสถานประกอบการให้คนงานมาทำงานวันเว้นวัน อย่างนี้จะเข้าข่ายว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยของประกันสังคมไหม เพราะดูไม่เข้าข่ายมาตรา 75 หรือที่ออกประกาศลดการส่งเงินสมทบฝั่งลูกจ้างจาก 5% เหลือ 1% ก็ยังพบว่ามีบางแห่งลูกจ้างยังคงต้องจ่ายสมทบในอัตราเดิม 5% อู่ดี เมื่อสอบถามก็ได้รับคำตอบว่าเป็นคำสั่งผู้ใหญ่ สุดท้ายเหมือนว่าแรงงานจะเข้าถึงสิทธิ แต่ก็เข้าไม่ถึงอย่างที่เราต้องการ”
เอาเปรียบลูกจ้าง ให้ท้ายนายจ้าง
ธนพร วิจันทร์ มองว่า รัฐบาลพยายามแบ่งความช่วยเหลือออกเป็นส่วนๆ และเลือกกองทุนประกันการว่างงานของสำนักงานประกันสังคมเป็นการเยียวยาแรงงานในระบบ แต่เธอมองว่าการเยียวยาด้วยเงินที่ตัวเองเป็นผู้จ่ายสมทบยิ่งทำให้ลูกจ้างได้รับความลำบาก เพราะแทนที่จะได้รับเงิน 75% ของเงินเดือนเดิมจากนายจ้างตามมาตรา 75 พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน กลับได้เพียง 62% จากสำนักงานประกันสังคม
“เราเป็นคนส่งเงินสมทบ เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 แต่เมื่อรัฐบาลประกาศให้ Covid-19 เป็นเหตุสุดวิสัย วันนี้นายจ้างหลายแห่งพยายามผลักภาระการจ่ายตามมาตรา 75 ให้ลูกจ้างมาใช้เงินกองทุนประกันการว่างงานของประกันสังคมแทน ทั้งที่กองทุนว่างงานตั้งขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ของมันอยู่แล้ว คือ ลาออกหรือถูกเลิกจ้างตามเงื่อนไขเดิม” ธนพรกล่าว
ศรีไพร นนทรีย์ กล่าวว่า คนงานย่านรังสิตมีทั้งชาวไทยที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และแรงงานข้ามชาติ ก่อนที่จะมีโรคระบาด Covid-19 คนงานทั้งสองกลุ่มก็เดือดร้อนจากพิษเศรษฐกิจมาก่อนแล้ว และเมื่อมีโรคระบาดก็ถูกซ้ำเติมด้วยความเดือดร้อนระลอกใหม่อีกที โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่มักทำงานตามไซต์ก่อสร้างในย่านรังสิต บางรายไม่ใช่แรงงานถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้แม้แต่ในเวลาปกติคนกลุ่มนี้ก็แทบเข้าไม่ถึงสิทธิแรงงานพื้นฐานอยู่แล้ว ในเวลาที่มีโรคระบาดก็ยิ่งทำให้แรงงานข้ามชาติห่างไกลจากการคุ้มครองจากรัฐ ส่วนคนงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ก็รู้สึกไม่พอใจที่ตนไม่ได้รับสิทธิเยียวยาจากรัฐในโครงการเราไม่ทิ้งกันเหมือนผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 40 ทั้งที่มีภาระค่าใช้จ่ายไม่ต่างกัน
ศรีไพรยังมองว่าการเยียวยาครั้งนี้รัฐพยายามปัดความรับผิดชอบให้ผู้ประกันตนไปใช้เงินของตนเอง แทนที่จะใช้งบประมาณแผ่นดินที่มีอยู่มากมาย เช่น เงินกู้ หรือภาษี แต่กลับโยนภาระไปให้คณะกรรมการประกันสังคมตัดสินใจว่าจะรับผิดชอบเยียวยาผู้ประกันตนอย่างไร สุดท้ายคณะกรรมการฯ จึงถูกวิจารณ์ที่โหวตไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มเงินสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจาก 62% เป็น 75%
“ไม่ใช่เราไม่เห็นด้วยกับคนที่กำลังจะอดตาย แต่เราควรมาพูดกันไหมว่าเงินที่จะนำมาเยียวยาควรมาจากส่วนไหนบ้าง จะมีแต่เงินจากกองทุนประกันสังคมอย่างเดียวเท่านั้นหรือ เราจะไปเอาเงินก้อนนี้มาจนระบบมันล่มเลย อนาคตไม่ต้องพูดถึงเลยว่าจะกินอยู่กันอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องพูดถึง”
น่าสังเกตว่าลูกจ้างที่ส่งสบทบไม่ถึงเกณฑ์เวลาที่กำหนดด้วยเหตุสุดวิสัยใดๆ ก็จะไม่ได้รับสิทธิโดยอัตโนมัติจากประกันสังคม
‘กฎกระทรวงแรงงานฯ’ เป็นต้นเหตุให้นายจ้างฉวยโอกาสจากลูกจ้าง
เซีย จำปาทองไม่เห็นด้วยกับสำนักงานประกันสังคมที่ออกมาตรการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ว่างงานจากเหตุสุดวิสัย Covid-19 ให้รับเงินสิทธิประโยชน์ 62% ของค่าจ้างรายวัน เพราะมองว่าสุดท้ายแล้วผู้ประกันตนจะเสียประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีกรณีนายจ้างบางรายฉวยโอกาสเกลี้ยกล่อมให้ลูกจ้างทำงานต่อโดยเซ็นยินยอมรับเงินเพียง 50% ของค่าจ้างรายวันในวันที่มาทำงาน ทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิประกันสังคมเพราะยังมีงานทำอยู่ แต่ก็เป็นการมีงานทำที่ได้ค่าแรงไม่เป็นไปตามกฎหมาย
“ความเดือดร้อนของคนงานรอไม่ได้ รอไม่ได้แม้แต่วันเดียว เพราะต้องใช้จ่ายทุกวัน” เซียกล่าว “ผมรู้สึกแปลกใจที่มีประกาศฉบับนี้ ก็ได้แต่พูดคุยกันในกลุ่มสมาพันธ์สิ่งทอ เราคิดว่านี่คือการอุ้มนายจ้างโดยการผลักภาระให้ลูกจ้างไปใช้เงินตัวเองในระบบประกันสังคม แบบนี้ไม่เป็นธรรม”
มงคล ยางงาม บอกว่า การประกาศกฎกระทรวงแรงงานว่าด้วยการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด เพราะเป็นการเปิดช่องให้นายจ้างฉกฉวยโอกาสจากเงินกองทุนประกันสังคมซึ่งเป็นเงินที่ลูกจ้างจ่ายสมทบได้โดยง่าย ทั้งที่นายจ้างมีกำไรสะสมมานาน
“แม้จะมีส่วนหนึ่งบอกว่าเงินประกันสังคมคือเงินของนายจ้าง เพราะเขาส่งสมทบไง เขาก็มีสิทธิใช้สิ แต่พวกเราก็มักบอกว่าเงินประกันสังคมก็คือเงินของลูกจ้าง 100% เพราะกำไรที่นายจ้างได้มาเป็นเงินสมทบฝั่งนายจ้างหรือภาษีที่รัฐใช้เป็นเงินจ่ายสมทบฝั่งรัฐก็มาจากเงินของลูกจ้างนั่นแหละ แต่สุดท้ายไม่มีใครมาเยียวยาเราเลย นายจ้างก็ลอยตัว รัฐก็กำหนดข้อจำกัดมากมายในการช่วยเหลือผู้ประกันตนมาตรา 33 ซ้ำยังช่วยเหลือล่าช้า”
มงคลชี้ว่า สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานที่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ได้รับไม่ใช่สิทธิประโยชน์อย่างแท้จริง แต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้างเมื่อปิดงานตามมาตรา 75 และเป็นการผลักภาระให้ลูกจ้างตั้งแต่ขั้นตอนการลงทะเบียนด้วยตนเอง หรือการให้นายจ้างออกหนังสือรับรองการเลิกจ้าง ซึ่งเป็นความยุ่งยากโดยไม่จำเป็นและอาจทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิจากการรอเอกสารนายจ้าง นายจ้างส่งเอกสารเท็จ หรือนายจ้างไม่ยอมนำเงินส่งสมทบประกันสังคมจนลูกจ้างเสียสิทธิ เขาย้ำว่าการได้รับเงินล่าช้านับเป็นความอยุติธรรมอย่างหนึ่ง
มงคลเล่าว่า นายจ้างรายหนึ่งในจังหวัดอยุธยาแจ้งว่าลูกจ้างลาออกเอง ทั้งที่ลูกจ้างมีหนังสือเลิกจ้างจากนายจ้างเป็นหลักฐานโต้แย้ง พบว่าสำนักงานประกันสังคมกลับเชื่อถือนายจ้างมากกว่า นอกจากนี้ยังพบว่านายจ้างบางรายบังคับให้ลูกจ้างลาออก หรือเอาสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานมาต่อรองให้ลูกจ้างยินยอมลาออกเพื่อจะเลี่ยงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยกรณีเลิกจ้าง เช่น อาสาจะดำเนินการรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากประกันสังคมให้
มงคลสังเกตว่า ที่ผ่านมาประกันสังคมไม่เคยเอาผิดนายจ้างอย่างจริงจัง หรือไม่เปิดเผยว่ามีการลงโทษนายจ้างไปอย่างไรแล้วบ้าง ทำให้ผู้ประกันตนขาดความเชื่อมั่น
จะเยียวยาผู้ประกันตนอย่างไร ประกันสังคมรูปแบบไหนที่เราต้องการ
รมต. ว่าการกระทรวงแรงงาน หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล ได้ออกกฎกระทรวงเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 กำหนดให้ “ในกรณีมีเหตุสุดวิสัย และลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากต้องกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรคให้ลูกจ้างดังกล่าวเนื่องจากต้องกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรคให้ลูกจ้างดังกล่าวซึ่งไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานแต่ไม่เกิน 90 วัน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 หรือตามที่ระยะเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี”
หลังจากมีการประกาศกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว และมีการหยั่งเสียงว่า รมต.แรงงานจะเสนอให้เพิ่มเงินประกันสังคมจาก 62 เป็น 75% ก็เกิดเป็นข้อถกเถียงในหมู่พี่น้องแรงงาน เช่น อรุณี ศรีโต บอร์ดประกันสังคมฝ่ายลูกจ้างไม่เห็นด้วยเนื่องจากเกรงว่าต่อไปนายจ้างจะโอนภาระทั้งหมดมาให้ประกันสังคม ในอนาคตหากผู้ประกันตนทั้ง 15 ล้านคนที่จ่ายเงินกองทุนประกันการว่างงานต้องตกงานก็ควรมีโอกาสได้ใช้เงินที่จ่ายสมทบทุกเดือน อรุณีกังวลกลัวว่าเงินกองนี้จะหมดไปก่อนในที่สุด
มนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงงานแห่งประเทศไทยเห็นตรงกับอรุณีว่าควรจ่ายสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนเพิ่มเป็น 75% แต่รัฐต้องนำเงินภาษีมาใช้แทน ในขณะที่หลายฝ่ายเห็นว่าควรนำเงินประกันสังคมออกมาใช้ได้เลย เมื่อมีกระแสขัดแย้งเช่นนี้ทำให้ รมต. กระทรวงแรงงานชะลอข้อเสนอปรับเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 เป็น 75%
ทั้งนี้ สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรมยังเห็นว่าถึงแม้จะไม่มีการผลักดันข้อเสนอนี้เข้าที่ประชุม ครม. อีก แต่ก็เป็นประเด็นที่ควรค่าแก่การขบคิดว่าผู้ประกันตนและองค์กรด้านแรงงานมีความเห็นอย่างไรต่อการเยียวยาผู้ประกันตน เพื่อเสนอทางออกร่วมกันต่อไป
จะเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 อย่างไร: ด้วยเงินของใครและจ่ายเท่าไหร่
ทางเลือกที่ 1: เงินต้องมาจากประกันสังคม
ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา ที่ปรึกษาจัดตั้งแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และผู้ประกันตนมาตรา 33 เสนอว่าเงินเยียวยาควรมาจากนายจ้างตามมาตรา 75 ของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน เพราะไม่เชื่อว่านายจ้างรายใหญ่จะไม่มีเงินพอจ่าย และเสนอให้รัฐบาลออกเป็นกฎกระทรวงบังคับใช้มาตรา 75 ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ควบคู่ไปกับการคงสิทธิประกันสังคมตามเดิมโดยไม่ต้องเพิ่มจำนวนเงิน และนำเงินกองทุนชราภาพมาใช้ก่อนในยามฉุกเฉิน
“เงินชราภาพคือเงินของผู้ประกันตนออมไว้ตอนแก่ ผู้ประกันตนควรจะมีสิทธิถอนเงินสะสมออกมาใช้ในยามวิกฤตินี้ ไม่ต้องนำเงินของใครมาให้เรา” ศุกาญจน์ตาว่า
“ดิฉันมองว่าลูกจ้างในฐานะที่เป็นคนทำงานมีกฎหมายคุ้มครองคุณ ทั้ง พ.ร.บ.แรงงาน และประกันสังคม ไม่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ควรจะได้รับสิทธิทั้งสองอย่าง ประกาศกฎกระทรวงออกมาว่าสถานการณ์โรคระบาดเป็นสถานการณ์ที่สุดวิสัย นายจ้างต้องจ่าย 75% ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ส่วนสิทธิประกันสังคมก็คงไว้ตามเดิม ไม่ต้องเพิ่มเลย ตกงานก็ใช้ประกันการว่างงานจ่าย 30% 50% ก็ในเมื่อเราได้มาตรา 75 มาส่วนหนึ่ง ประกันสังคมก็จ่ายตามเงื่อนไขที่มีอยู่ ดิฉันมองว่ามันเพียงพอเเล้ว ไม่เห็นต้องมาหาเรื่องกับประกันสังคมว่าต้องจ่ายเท่านั้น เท่านี้” ศุกาญจน์ตาเสนอ
ทางเลือกที่ 2: เงินต้องมาจากนายจ้าง
ธนพร วิจันทร์ กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี เสนอว่าต่อไปนี้ให้จัดตั้ง ‘กองทุนประกันความเสี่ยง’ ขึ้นมาใหม่ โดยแบ่งผลกำไรของนายจ้างส่วนหนึ่งเข้ามาเก็บไว้เป็นประกันแก่พนักงานในกรณีได้รับผลกระทบ เช่น น้ำท่วม หรือเกิดโรคระบาด ซึ่งจะได้มาพูดคุยรายละเอียดกันในโอกาสต่อไป
เซีย จำปาทอง สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย ชวนให้มองย้อนไปถึงการรัฐประการ และรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้ระบบการเมืองรัฐสภาอ่อนแอ เป็นเหตุให้ได้ รมต.แรงงานที่ไม่เข้าใจปัญหาแรงงาน ทำให้ รมต.แรงงานใส่ใจความเป็นอยู่ของกลุ่มทุนมากกว่าเสียงของแรงงาน
เซียไม่ได้เสนอตรงๆ ให้นายจ้างรับผิดชอบแรงงานในช่วง Covid-19 ระบาด เพียงแต่ถามกลับไปว่าที่ผ่านมานายจ้างรับผิดชอบอะไรลูกจ้างบ้าง นอกเหนือไปจากการผลักภาระให้ลูกจ้างรอรับสิทธิประกันสังคมซึ่งมีความล่าช้านับแสนคน
ศรีไพร นนทรีย์ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียงเห็นใกล้เคียงกับเซีย เธอมองว่าการประกาศกฎกระทรวงแรงงานฉบับดังกล่าวเป็นการ ‘ชี้โพรงให้กระรอก’ ให้นายจ้างไม่ตต้องรับผิดใดๆ ทั้งที่ก่อนเกิดวิกฤติ Covid-19 หลายสถานประกอบการณ์ได้กำไรมหาศาล
“เวลานี้ถ้าเรารักษาประกันสังคมไว้ไม่ได้ก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการ เราต้องค่อยๆ คิดไม่ใช่รัฐบาลออกมาพูดแบบนี้แล้วต้องรีบกระโจนเข้าหาตอบรับในทันที” ศรีไพรกล่าว
ทางเลือกที่ 3: เงินต้องมาจากรัฐ
ธนพร วิจันทร์ กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี เสนอว่าอีกทางเลือกหนึ่ง คือ หากรัฐส่งเสริมให้นายจ้างจ่ายชดเชยตามมาตรา 75 ให้ลูกจ้าง 75% ของรายได้เดิมแล้ว รัฐก็ควรหาทางเพิ่มเงินให้ลูกจ้างมีรายได้ 100% ตามเดิม โดยหากจะกู้มาเยียวยาประชาชนก็ควรเยียวยาทุกๆ คนเท่าเทียมกัน ไม่ต้องรอขั้นตอนพิสูจน์สิทธิ ส่วนกองทุนประกันสังคมก็ให้เป็นไปตามกลไกของกองทุนประกันสังคมแต่เดิม และควรให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ตั้งแต่การจ่ายสมทบครั้งแรก
มงคล ยางงาม กลุ่มแรงงานเพื่อสังคม เห็นด้วยกับการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน แต่ต้องไม่ลืมว่าสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มมานั้นต้องมาจาก ‘ลูกหนี้ของประกันสังคม’ คือรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลจะใช้เงินที่กู้มาเยียวยาเฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้
“ผมมองว่าให้รัฐบาลให้ทยอยใช้หนี้ประกันสังคมคืน รัฐบาลก็เอาเงินมาเติมให้ครบ 75% จากเดิมที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้รับเงินสิทธิประโยชน์ประกันสังคมเพียง 62%” มงคลกล่าว และเสนอให้นายทุนใหญ่ร่วมช่วยเหลือผ่านโครงการ CSR เพื่อสังคม
สรุปข้อเสนอจากงานเสวนาต่อสำนักงานประกันสังคม
- ลูกจ้างต้องได้รับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมทันทีที่ขึ้นทะเบียน
- คนทำงานทุกอาชีพต้องอยู่ในระบบประกันสังคม
- แรงงานข้ามชาติควรมีสิทธิเบิกเงินบำเหน็จชราภาพออกมาใช้ก่อนได้ ไม่ต้องรอให้อายุครบ 55 ปีตามเกณฑ์ เพราะในความเป็นจริงแรงงานข้ามชาติส่วนมากมาทำงานเป็นระยะเวลาสั้นๆ ส่งเสริมการรวมกลุ่มของแรงงาน เผยแพร่สิทธิและข้อมูลข่าวสารให้แรงงานได้รับทราบ โดยภาครัฐต้องเข้ามาให้ความรู้เพื่อให้แรงงานได้พัฒนาตัวเองโดยไม่เลือกปฏิบัติ
- ตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง/ กองทุนประกันการว่างงานจากเหตุสุดวิสัย โดยให้นายจ้างสำรองจ่ายแต่เพียงผู้เดียว
- เมื่อใช้สิทธิประกันสังคม 62% จนครบแล้วให้ถือว่าพ้นเหตุสุดวิสัย ให้นายจ้างเยียวยาต่อตามมาตรา 75 พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน หรือให้ใช้มาตรา 75 แทนในกรณีนายจ้างหยุดงานชั่วคราวโดยไม่ใช่เหตุสุดวิสัย และขอให้รัฐจ่ายสมทบอีก 25% เพื่อให้ลูกจ้างมีรายได้ครบ 100% ตามเดิม
- ให้ประกันสังคมออกคำสั่งเรื่องประโยชน์ทดแทนโดยเร็ว และให้ดำเนินคดีกับนายจ้างที่ไม่นำส่งเงินสมทบและแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานหรือแจ้งการสิ้นสุดเป็นผู้ประกันตนให้ดำเนินคดี และให้เปิดข้อมูลการดำเนินคดีต่อสาธารณะ
- ยกเลิกกฎกระทรวงที่ได้รับผลประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากเหตุการณ์ระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 หากนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานหรือถูกทางราชการสั่งปิดงานด้วยเหตุแห่งโรคระบาด ให้นายจ้างและรัฐร่วมจ่ายร้อยเปอร์เซ็นต์ให้กับลูกจ้าง
- ให้คนงานมีส่วนร่วมในการออกแบบแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและระบบประกันสังคมที่ต้องการ การทำเช่นนั้นได้สำนักงานประกันสังคมต้องเปิดเผยข้อมูลออกมาให้ประชาชนรับทราบ เช่น เงินคงเหลือ เงินที่ถูกใช้ไป รวมทั้งปรับโครงสร้างองค์กรให้สำนักงานประกันสังคมกลายเป็นองค์กรอิสระ ไม่อยู่ภายใต้รัฐบาลหรือพรรคการเมือง
- ให้เยียวยาแรงงานประกันสังคมทุกมาตราอย่างเท่าเทียมกัน
- เชื่อมโยงความเข้าใจเรื่องการเมืองเข้ากับปัญหาความเป็นอยู่ของแรงงาน และพัฒนาประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่มีรัฐสวัสดิการ