จากหน้าจอถึงหน้าประตู: บันทึกหนึ่งวันของ ‘แรงงานขาจรออนไลน์’

บทความนี้เผยแพร่ใน Decode

ปลายปี 2563 ประเด็นสิทธิแรงงานกลับมาเป็นความตื่นตัวกระแสหลักอีกครั้ง หลังจากขบวนการประชาธิปไตยในไทยถูกจุดติดเมื่อปี 2563 ประกอบกับสถานการณ์โรคระบาด Covid-19 เร่งเร้า จนทำให้มีการพูดถึงปัญหาเรื้อรังเรื่องอื่น ๆ ในสังคมตามมา เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวย-คนจน ปัญหาการไม่มีตาข่ายรองรับทางสังคมสำหรับคนตกงาน ปัญหาของระบบช่วยเหลือจากราชการ ฯลฯ

ปี 2563 คนงานประจำที่ถูกเชิญออกจากงานด้วยเหตุ Covid-19 จำนวนมากไหลเข้ามาเป็นคนงานอิสระตามธุรกิจต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ ทั้งเป็นไรเดอร์รับส่งคน-ของ-อาหาร ทั้งเป็นแม่บ้านทำความสะอาด ทั้งเป็นเทอราปิสต์ตามบ้าน ไปจนถึงอาชีพอื่นๆ ที่ปรับตัวเองจากหน้าร้านมาสู่แอปพลิเคชันออนไลน์ นอกจากข้อดีเรื่องความเป็นอิสระ ความยืดหยุ่นของตารางงาน ค่าตอบแทนที่มีโอกาสได้มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำรายวันแล้ว พักหลังประเด็นเรื่องความไม่มั่นคงของงาน การแบกรับต้นทุนทำงาน การรีบเร่งเดินทาง การรีบทำยอดงานให้ได้หลาย ๆ ชิ้น ฯลฯ ก็ตีคู่ขึ้นมาให้พูดถึงบ่อยไม่แพ้กัน

ต้นเดือนมกราคม 2564 คือช่วงเวลาที่คนงานกลับจากการพักผ่อนสิ้นปีมาสู่โลกการทำงานที่เต็มไปด้วยความยืดหยุ่นและไม่มั่นคง ด้วยเหตุนี้ ช่วงต้นปีก็อาจเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการทบทวนถึงสภาพการทำงานของตัวเอง รวมถึงของแรงงานคนอื่นๆ ในฐานะที่เราต่างเป็นฟันเฟืองน้อยที่ร้อยเรียงให้โลกทุนนิยมยังดำเนินไปตามปกติท่ามกลางความวุ่นวายของเศรษฐกิจและโรคระบาด

ใครเล่าจะถ่ายทอดชีวิตการทำงานได้ดีไปกว่าคนงานเอง สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) หยิบผลงานเกี่ยวกับชีวิตการทำงานรายชิ้น (gig work) 3 เรื่องที่ชนะการประกวด “คน-งาน-ผ่านแอปฯ อาชีพอิสระใหม่ในโลกไม่มั่นคง” ประเภทคนงาน มารีวิวให้ฟังว่าในปีที่ผ่านมา เหล่าคนงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์เล่าให้เราฟังว่า พวกเขามีชีวิตในฐานะ ‘คนงานขาจร’ ที่ไม่ประจำตามแอปพลิเคชันอย่างไรบ้าง

ชีวิตที่ไม่มี OT นอกกรอบ 8-8-8

“05:30 น.เสียงนาฬิกาปลุกดัง … ใช้เวลาเดินทางจากที่พักถึงบ้านลูกค้า 45 นาที … ถึงบ้านลูกค้าเวลา 08:00 น. … งานแรกเสร็จเมื่อ 13:15 น. ใช้เวลาไป 5 ชม. … งานสองเป็นออฟฟิศ ใช้เวลาทำประมาณ 3 ชม. … เสร็จงานประมาณ 19:40 น. … ใช้เวลาเดินทางกลับ 2 ชม. กว่า ถึงห้องพัก 22:00 น. นิดๆ” – ไดอารีแม่บ้านไฮโซ (รางวัลที่ 2)

วาสนา (นามสมมติ) เขียนไดอารีความยาวราว 3 หน้ากระดาษเพื่อบอกเล่าชีวิต 1 วันการทำงานเป็น ‘แม่บ้านไฮโซ’ หรือแม่บ้านทำความสะอาดบนแอปพลิเคชันแห่งหนึ่งที่รับงานได้ก็ต่อเมื่อมีลูกค้าต้องการกดสั่งจองบริการเป็นรายครั้ง (on demand)

วันที่ 17 ตุลาคม 2563 คือวันที่ที่วาสนาจั่วเอาไว้บนกระดาษ ย้อนไปขณะนั้นสถานการณ์ Covid-19 ระลอกแรกคลี่คลายลงในหลายพื้นที่ วาสนามีลูกค้าสั่งจองบริการเข้ามา 2 งาน คืองานทำความสะอาดบ้านพักที่รังสิต ปทุมธานี และงานทำความสะอาดสำนักงานแถวบางกะปิ กรุงเทพ ในหนึ่งวันนั้นเธอเขียนไว้ว่าตื่นตั้งแต่ตี 5 ครึ่งเพื่อเริ่มงานแรกตอน 8 โมงเช้า จากนั้นไปทำงานที่สองตอนบ่ายๆ และกลับมาบ้านตอนค่ำมืด

วาสนาไม่ได้เขียนไว้ในไดอารี แต่เรื่องราวของเธอในหนึ่งวันนั้นทำให้เรานึกถึงแนวปฏิบัติเรื่องการแบ่งเวลา 24 ชั่วโมงออกเป็น 3 ส่วน หรือ 8-8-8 โดยแปดแรกหมายถึงเวลาทำงานต้องจำกัดไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน แปดที่สองคือเวลานอนหลับ และแปดสุดท้ายคือเวลาสำหรับสันทนาการ การผ่อนคลายส่วนตัว หรือการหาความรู้-ทักษะเพิ่มเติมที่แต่ละคนสนใจ

แนวคิด 8-8-8 เกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เมื่ออังกฤษเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ๆ สมัยนั้นคนงานคนหนึ่งอาจต้องทำงานในโรงงาน 10-16 ชั่วโมง เป็นเช่นนี้ราว 6 วัน และมีวันพักเพียง 1 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น จนเกิดเป็นขบวนการเรียกร้องให้จำกัดเวลาทำงานต่อวันไม่ให้เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และรวมกันไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ตามมา

แม้ประเทศไทยยึดหลักการทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และปัจจุบันหลายประเทศก็มีความพยายามต่อรองขอลดชั่วโมงทำงานอีกเรื่อย ๆ แต่หลักเกณฑ์เรื่องการจำกัดจำนวนชั่วโมงที่เหมาะสมต่อการทำงานใน 1 วันยังไม่ถูกนำมาใช้กับคนงานรายชิ้นบนแพลตฟอร์มออนไลน์

วาสนาคือตัวอย่างของคนที่ทำงานกับระบบคิดค่าตอบแทนของบริษัทแพลตฟอร์มที่ออกแบบการจ่ายเงินเป็นรายชิ้น คล้ายการจ้างเหมาตามชั่วโมงการทำงาน เช่น ทำความสะอาด 3 ชั่วโมง 500 บาท ทำความสะอาด 5 ชั่วโมง 800 บาท หมายความว่าหากวาสนารับงาน 1 ชิ้น 3 ชั่วโมง ค่าแรง 500 บาทจะเป็นค่าตอบแทนของการปัดกวาดเช็ดถู 3 ชั่วโมงเท่านั้น ยังไม่รวมอัตราที่บริษัทแพลตฟอร์มจะหักเป็นค่านายหน้า เวลาที่วาสนาใช้ไปกับการเดินทางจะไม่ถูกคิดเป็นค่าจ้าง แม้ว่างานเหล่านี้อาศัยการเดินทางไปตามบ้านลูกค้าที่ต่างๆ ไม่ซ้ำกันเป็นหลัก และเธอใช้เวลาเดินทางไปกลับพอ ๆ กับเวลาทำงานก็ตาม

บนโลกออนไลน์ 
เลข 8 คือจำนวนชั่วโมงที่เธอใช้ไปกับการทำความสะอาดบ้านสองหลัง
เลข 6 คือจำนวนชั่วโมงที่เธอใช้ไปกับการเดินทาง เธอเดินจ้ำฝ่าฝน รอคิวรถอย่างอดทน โหนรถเมล์ โดดขึ้นรถสองแถว

แต่มีเพียงเลข 8 เท่านั้นที่เธอได้รับค่าเหนื่อย
เลข 6 กลับไม่ถูกนับเป็นเวลางานที่สมควรได้ค่าตอบแทน
ส่วน 0 คือจำนวนชั่วโมงที่เธอทำงานจนมืดค่ำแล้วได้ค่าล่วงเวลา

เส้นทางหลังจอ

“ที่จริงอยากถ่ายช่วงที่เราเดินทางไปทำงานว่าขึ้นลงรถบีทีเอสเป็นอย่างไร ลำบากมาก ไม่มีอะไรคุ้มครอง จะยกเลิกออเดอร์งานก็ไม่ได้” – vlog ‘งานลำบากแต่สบายใจ’ ของเทอราปิสต์ตามบ้าน (รางวัลที่ 3)

เพ็ญ (นามสมมติ) หมอนวดตามบ้านที่ทำงานกับแอปพลิเคชันชื่อดังแห่งหนึ่งส่งคลิป vlog ขนาดสั้นจำนวน 3 คลิปเข้ามายังอีเมลของสถาบันฯ เธอนิยามงานที่ตัวเองทำอยู่ว่าเป็น ‘งานลำบาก’ เหนื่อย หนัก ต้องรับมือกับลูกค้าสารพัดประเภท แต่สบายใจที่ร้านนวดหรือเพื่อนหมอนวดร่วมร้านไม่ต้องเข้ามามีบทบาทในการทำงานแต่ละวันของเธอ เพราะตัวกลางที่เข้ามาทำหน้าที่จับคู่ระหว่างหมอนวดแต่ละคนกับลูกค้าย่อส่วนเหลือเพียงแอปพลิเคชันหนึ่งบนมือถือเท่านั้น

vlog ของเพ็ญไม่มีอะไรเหมือนกับคลิปสวย ๆ ที่บรรดาอินฟลูเอนเซอร์บนอินเทอร์เน็ตทำเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองสักคนเดียว เพ็ญใช้วิธีถ่ายคลิปตัวเองง่ายๆ ระหว่างพักจากชั่วโมงงานมาบอกเล่าการทำงานรวม ๆ สลับกับถ่ายคลิปเพื่อนร่วมงานหลังจากทำงานเสร็จ คลิปของเธอทั้งขลุกขลัก สั่น และมีบางช่วงที่เธอตื่นเต้นที่จะได้เล่าจนพูดตะกุกตะกักไปบ้าง แต่เรื่องเล่าจากปากเธอก็ยังน่าสนใจ เวลาที่เธอเล่าเรื่องการเดินทางหลังเลิกงานไปพลางวิ่งหลบฝนใต้ร่มคันเดียวกับเพื่อนก็ยิ่งทำให้เราเห็นภาพงานของเธอชัดขึ้น ว่ายังมีเรื่องราวอีกมากที่เกิดขึ้นหลังจากลูกค้าสักคนตัดสินใจกดสั่งจองบริการผ่านจอ 1 ครั้ง

ชีวิตคนงานบนแพลตฟอร์มสลับไปมาอยู่ตลอดเวลาระหว่างการทำงานบนโลกออนไลน์และออฟไลน์ การทำงาน 1 ชิ้นสั่งการให้มือของคนงานต้องทั้งกดรับออเดอร์ กดดูกูเกิลแมป กดจุดนวดตัวลูกค้า และกดจบงานไปในคราวเดียวกัน ทั้ง 3 คลิปของเพ็ญ จึงกลายเป็นการเล่าเรื่องราวหลังหน้าจอที่เกิดขึ้นจากฝั่งคนงาน

หลังจากได้รับคำสั่งงาน เธอต้องกระวีกระวาดหอบอุปกรณ์ทำงานขึ้นรถไฟฟ้า (แอปพลิเคชั่นที่เพ็ญทำงานอยู่รับออเดอร์นวดจากลูกค้าที่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าเท่านั้น) ก่อนจะไปพบลูกค้าตัวเป็นๆ ที่มีเลือดเนื้อมากกว่าคำสั่ง ‘นวดแบบใด กี่ชั่วโมง พิกัดบ้านอยู่ที่ไหน’ ที่เธอมีเวลาเห็นสั้น ๆ ตอนเดินทาง

เธอบอกว่ากว่าจะไปถึงบ้านลูกค้านั้น “บีทีเอสคนเยอะมาก” และ “นี่คือเรื่องจริง” ที่เธอเล่าปนหัวเราะว่าต้องเดินทางกลางฝน เมื่อบังเอิญว่าวันที่ถ่ายคลิปมานั้นอากาศไม่เป็นใจพอดี

ไม่ใช่แค่เพ็ญเท่านั้นที่ต้องกลับมาจบงานบนมือถือ เมื่อคนงานจบกระบวนการทุกอย่างข้างต้นแล้ว มือของลูกค้าอาจเข้ามาช่วยทำให้การบริการครั้งนั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ด้วยการกดประเมินการทำงาน กดไลก์ ให้หัวใจ ฯลฯ ในแอปพลิเคชัน เป็นการประมวลความพึงพอใจของบริการออฟไลน์ป้อนเป็นข้อมูลกลับไปในระบบออนไลน์อีกทีหนึ่ง

รายได้ขึ้นอยู่กับความขยัน

รางวัลสร้างสรรค์พิเศษ ซึ่งเป็นรางวัลเล็กๆ รางวัลสุดท้ายในการประกวดผลงานจากผู้ส่งประเภทคนงานตกเป็นของรูปถ่ายใบหนึ่งของไรเดอร์ส่งอาหารในชุดกันฝนสีชมพู ขากางเกงพับสูง รองเท้าแตะ ถ่ายคู่กับมอเตอร์ไซค์คันเก่าที่มีกล่องบรรจุอาหารสีชมพูสดใสตั้งท้ายเบาะ

รัตน์ (นามสมมติ) คือคนลั่นชัตเตอร์ แต่เธอไม่ใช่คนในรูป รัตน์บรรยายภาพของเธอว่า “อาชีพอิสระยุค New Normal รายได้ขึ้นอยู่กับความขยัน …”

ย้อนไปในช่วงตุลาคมปีที่แล้วที่รัตน์ส่งผลงานเข้ามาใหม่ๆ ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหาร หรือ ‘ไรเดอร์’ ตามแอปพลิเคชันต่างๆ เพิ่มจำนวนขึ้นจากยุคก่อน Covid-19 สวนทางกับการปรับลดค่าตอบแทนของบริษัทแพลตฟอร์ม ส่งผลให้ไรเดอร์ต้องแย่งงานกันเองหรือเร่งกันทำรอบให้ได้หลายชิ้นงานมากขึ้นในแต่ละวัน

หน้าฝน คือด่านยากของผู้ขับขี่ โดยเฉพาะเมื่อผู้ขับขี่เลือกมอเตอร์ไซค์ที่มีแต่เกราะเนื้อหุ้มรถเหล็กเป็นยานพาหนะ และยิ่งโดยเฉพาะเมื่อผู้ขับขี่ต้องรีบทำเวลาด้วยใจจดจ่อเรื่องปากท้อง ‘ความขยัน’ ของคนงานบนแพลตฟอร์มจึงมีความหมายลึกซึ้งไปกว่าคู่ตรงข้ามของความขี้เกียจ แต่เป็นการผลักตัวเองให้สู้กับงานเสี่ยงภัยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นกับดักของการได้รับค่าตอบแทนเป็นรายชิ้น ค่าตอบแทนที่เป็นเพียงเศษเสี้ยวของมูลค่าอาหารหรือสินค้าที่พวกเขารับส่ง

ชีวิตล่องหนของคนงาน

แน่นอนว่าฝีมือการเขียนบทความ การถ่ายภาพ การถ่ายและตัดต่อคลิปวิดีโอของคนงานดีไม่สู้คนทำสื่อมืออาชีพ การประกวดครั้งนี้สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรมยอมรับว่ายังไม่มีใครสมควรได้รางวัลชนะเลิศ แต่ผลงานทั้ง 3 ชิ้นก็คู่ควรได้รางวัลที่ 2, 3 และรางวัลพิเศษ (ชมเชย) ในฐานะที่เป็นถ้วยรางวัลแด่คนงานที่ทำงานหนัก และยินดีจะแบ่งปันเรื่องราวการทำงานนั้นให้พวกเราได้ทราบ

ด้วยความที่งานรายชิ้นหรือรายกิ๊ก (gig) บังคับให้คนงานจำเป็นต้องเดินทางออกไปพบปะเจอหน้าค่าตากับลูกค้าตัวจริงหลังได้รับออเดอร์งาน ไม่อาจทำงานผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมดได้เหมือนคนงานฟรีแลนซ์ ก็คงมีคนจำนวนไม่น้อยได้เห็นบ้างแล้วว่าคนงานบนแพลตฟอร์มทำงานอย่างไรบ้าง อาจเป็นในตอนเดินสวนกันบนรถไฟฟ้า ตอนใช้ถนนร่วมเลน ตอนที่อาหารมาส่งถึงมือ ตอนที่บ้านสะอาดเอี่ยม ตอนที่หายปวดเมื่อยหลังนอนให้นวดมาแล้วสองชั่วโมง    

ที่ผ่านมา การรับรู้เหล่านี้จึงมีลักษณะเป็นภาพตัดที่กระโดดไปเป็นช่วงกว้าง ๆ เช่น จากช่วงสั่งจองบริการ พริบตาเดียวก็ได้รับสินค้าหรือบริการที่ต้องการแล้ว หรือเป็นภาพที่แทรกเข้ามาประกอบการดำเนินชีวิตตามปกติของเรา

ในภาษาอังกฤษมีสำนวนว่า Get (something) done. หมายถึงการใช้ใครไปทำงานก็ได้ ขอแค่ให้งานเสร็จ (something done) โดยไม่ระบุเจาะจงว่า ใครต้องเป็นคนทำงานนี้ อีกนัยหนึ่ง การทำงานแบบ get the job done ก็ทำให้เราไม่เห็นตัวตนของคนงานว่า เป็นใคร มีหน้าตาอย่างไร เวลาทำงานจะเหนื่อยยากอย่างไรบ้าง

แต่การได้ฟัง ‘คนงานล่องหน’ โดยเฉพาะวาสนาและเพ็ญเล่ายาว ๆ ถึงชีวิตในและนอกการทำงานของตัวเองก็ทำให้เห็นรายละเอียดชีวิตใครชีวิตมันที่ซุกซ่อนอยู่ บ้านที่สะอาดขึ้นของลูกค้าไม่ใช่เพียงอีกงานที่เสร็จไปด้วยตัวเอง แต่เป็นงานที่ได้ฝีมือคนงานที่มีเลือดเนื้อ มีต้นทุนชีวิตจริง ๆ มาช่วยทำให้เสร็จ

ผลงานทั้ง 3 ชิ้น คือชีวิตของคนงานรายชิ้นบนแพลตฟอร์มออนไลน์ 3 ประเภทในปี 2563 ปีที่เต็มไปด้วยอุปสรรคจากลมฟ้าอากาศ ปีที่มีโรคระบาดจนทำให้คนงานประจำจำนวนไม่น้อยต้องเปลี่ยนมาเป็นคนงานขาจรออนไลน์ซึ่งไม่มีสวัสดิการรองรับ ปีที่บริษัทแพลตฟอร์มหลายแห่งโตมากพอจะมีอำนาจเหนือตลาดจนสามารถผลักภาระค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งมาให้คนงานแบกรับเอง สำหรับคนงานที่ขาดหลักประกันมั่นคงในอาชีพ ไม่มีประกันชีวิต ไม่มีประกันอุบัติเหตุ ไม่อาจลาหยุดโดยยังได้รับเงินเดือน บริษัทแพลตฟอร์มบางแห่งไม่มีกระทั่งอุปกรณ์ป้องกันโรคโควิดที่เหมาะสมแจกจ่ายให้กับคนงาน ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่สาหัสไม่น้อย

ปี 2564 งานรายชิ้นเหล่านี้จะยังอยู่ในระบบเศรษฐกิจบ้านเราต่อไป แต่ชีวิตและการงานของแต่ละคนจะเป็นอย่างไร คงต้องให้ปลายปีเป็นผู้ตัดสินอีกครั้ง