บทความนี้เผยแพร่ใน Decode
ความนิยมในการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้เกิดการขยายตัวของงานส่งอาหารรายชิ้น ที่มีชื่อเรียกอย่างเก๋ไก๋ว่า ‘งานกิ๊ก’ (gig work) โดยพนักงานขี่มอเตอร์ไซต์ส่งอาหารหรือ “ไรเดอร์” ที่บริษัทแพลตฟอร์มกำหนดสถานะเป็น “พาร์ทเนอร์” หรือหุ้นส่วน แต่กระบวนการทำงานที่เป็นจริงไม่ต่างจากพนักงานของบริษัท
สถานะทางกฎหมายที่ยังคลุมเครือ รวมถึงการทำงานรายชิ้นที่สร้างรายได้ไม่สม่ำเสมอนำไปสู่ความจำเป็นในการรวมกลุ่มเพื่อปรับทุกข์และช่วยเหลือกันระหว่างไรเดอร์ ในที่สุด กลายเป็นการรวมกลุ่มเพื่อต่อรองสวัสดิการและสภาพการทำงานที่ดีขึ้น คล้ายคลึงกับการเกิดขึ้นของสหภาพแรงงานแบบดั้งเดิมที่มีฐานะเป็นตัวแทนสมาชิกเพื่อต่อรองกับนายจ้าง แม้จะยังไม่มีกฎหมายรองรับอย่างเป็นทางการ
เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กลายเป็นเดือนแห่งการชุมนุมเรียกร้องของไรเดอร์ส่งอาหารหลายแอปพลิเคชัน การรวมกลุ่มกันเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของแรงงานอิสระกลายเป็นปรากฏการณ์น่าสนใจยิ่ง เรื่องสิทธิทางกฎหมายและหลักปฏิบัติสากลในเรื่องการรวมกลุ่มและความเจรจาต่อรองระหว่างตัวแทนไรเดอร์กับแพลตฟอร์มข้ามชาติ
สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) จึงถือโอกาสชวนพรเทพ ชัชวาลอมรกุล ไรเดอร์และสมาชิกกลุ่ม Grab สันทนาการ, อภันตรี เจริญศักดิ์ อดีตแกนนำสหพันธ์อาหารและบริการประเทศไทย และสหภาพผู้ปรุงอาหารและให้บริการ และอัศริน แก้วประดับ เจ้าหน้าที่องค์กรเพื่อสิทธิแรงงาน Solidarity Center ร่วมพูดคุยถึงสิทธิเสรีภาพและอำนาจในการรวมกลุ่มของไรเดอร์ส่งอาหาร รวมทั้งจินตนาการถึงแพลตฟอร์มที่คนงานเป็นเจ้าของ และมีอำนาจกำหนดสวัสดิการได้เอง โดยไม่ถูกผูกขาดจากทุนแพลตฟอร์มข้ามชาติขนาดใหญ่
พัฒนาการจากพนักงานเดลิเวอรี่ถึงไรเดอร์อิสระ
อาชีพพนักงานส่งอาหารถึงบ้านโดยที่ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องเดินทางมาสั่งหรือรับอาหารที่ร้านด้วยตนเอง ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคที่อะไรๆ ก็สามารถเนรมิตได้จากโทรศัพท์มือถือ อภันตรี เจริญศักดิ์ อดีตแกนนำก่อตั้งสหพันธ์อาหารและบริการประเทศไทย และสหภาพผู้ปรุงอาหารและให้บริการ เล่าย้อนไปถึงยุคที่ผู้บริโภคสามารถโทรสั่งไก่ทอดยี่ห้อหนึ่งได้ผ่านเบอร์โทร 1150
“เมื่อก่อนพนักงานส่งอาหารของ KFC จะถูกเรียกว่า ‘พนักงานว้าว’ (Wow) ทีแรกบริษัทจะมีรถและอุปกรณ์อื่นๆ ให้ แต่พักหลังพนักงานต้องใช้ยานพาหนะของตนเอง บรรจุอาหารในกระเป๋าที่บริษัทเตรียมไว้ให้ มีชั่วโมงทำงาน 8 ชั่วโมง” อภันตรีกล่าว
เดิมบริษัทอาหาร KFC มีการแบ่งส่วนงานภายในร้านอย่างชัดเจน เช่น แคชเชียร์ (cashier) หรือพนักงานรับออเดอร์จากลูกค้า พ่อ/แม่ครัวหรือกุ๊ก (cook) ส่วนพนักงานที่ทำหน้าที่ขนส่งอาหารจะเรียกว่าพนักงานว้าว (wow) ซึ่งต้องได้รับการอบรมขั้นตอนการจัดส่งก่อนเริ่มงานจริง
ราวปี 2551 พนักงานว้าวถูกนับเป็นพนักงานคนหนึ่งของบริษัท มีสัญญาจ้าง ได้รับเงินเดือนและเงินพิเศษจากการทำงาน เช่น ค่าเดินทาง ค่าเสื่อมสภาพของยานพาหนะ ค่าประกันสุขภาพจากกองทุนประกันสังคม และค่าประกันอุบัติเหตุบนท้องถนนจาก พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ แต่เมื่อธุรกิจอาหารเริ่มเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น ทั้งจากการขยายสาขาของ KFC เอง และจากการเกิดใหม่ของร้านอาหารอื่นๆ พนักงานว้าวจึงเริ่มรู้สึก ‘ไม่ว้าว’ เมื่อบริษัทขอลดต้นทุนด้วยปลดคนทำงาน
อภันตรีเล่าว่า พนักงานว้าวที่เคยมีสวัสดิการและเงินเดือนประจำเหลือเพียงสองทางเลือกเท่านั้น คือ ลาออกแล้วกลายเป็นคนว่างงาน หรือย้ายไปเป็นพนักงานอิสระตามแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ทำธุรกิจขนส่งอาหารโดยเฉพาะแทน เช่น Grab, Foodpanda หรือ Lalamove
ในความคิดของเธอ ข้อดีอย่างเดียวของการเปลี่ยนไปทำงานกับแพลตฟอร์ม คือ งานใหม่มีความยืดหยุ่นและเป็นอิสระมากขึ้น คนทำงานไม่จำเป็นต้องอยู่ครบ 8 ชั่วโมง แต่ใช้เวลาเพียง 2-3 ชั่วโมงทำเป็นรายได้เสริมก็ได้ แต่ก็แลกมากับงานใหม่ที่คนงานไม่สามารถมองเห็นได้ว่านายจ้างเป็นใคร หรือทราบแต่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กันโดยตรง ไม่มีสัญญาจ้าง มีรายได้ไม่แน่นอน และไม่ได้รับสวัสดิการต่างๆ เหมือนที่เคย
การกำกับควบคุมของแพลตฟอร์ม: เหมือนเงาที่ติดตามไรเดอร์ทุกฝีก้าว
พรเทพ ชัชวาลอมรกุล คือพนักงานขับรถให้กับหลายแอปพลิเคชัน ในสายตาไรเดอร์คนอื่นๆ พรเทพได้รับการยกย่องให้เป็น ‘ลูกพี่’ จากการเป็นแกนนำกลุ่ม Grab สันทนาการ หรือกลุ่มไรเดอร์ที่รวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการเพื่อต่อรองสวัสดิการของไรเดอร์กับบริษัท จึงไม่แปลกที่ในสายตาบริษัท ลูกพี่คนนี้จะถูกมองว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมาที่บริษัทต้องจับตามองเป็นพิเศษ
“เราเป็นพาร์ทเนอร์ มีอาชีพอิสระ” พรเทพเริ่มต้นด้วยการนิยามอาชีพคนขับรถส่งอาหารในยุคใหม่ว่ามีสถานะเป็นเพียงพาร์ทเนอร์หรือหุ้นส่วน ไม่ใช่พนักงานตามปกติ
“แต่บริษัทแพลตฟอร์มบังคับให้เราเปิดรับงานทุกประเภทโดยไม่สามารถปฏิเสธงานได้ถ้าเราวิ่งข้ามเขตไปต่างจังหวัด ไรเดอร์ต้องรับผิดชอบค่าเดินทางและค่าสึกหรอของรถเอง รายได้ก็อาจไม่คุ้มค่ารองาน”
จุดเด่นอย่างหนึ่งที่บริษัทจัดหาพนักงานขนส่งพยายามชูขึ้นมาให้แตกต่างจากบริษัทขายอาหารทั่วไปที่มีบริการส่งถึงบ้านพ่วงขึ้นมา คือ ความยืดหยุ่นมีอิสระ แต่พรเทพรู้สึกว่าเป็นความอิสระที่มีเงาของบริษัทแพลตฟอร์มคอยกำกับควบคุมอย่างใกล้ชิด ส่วนความเป็นอิสระอย่างที่บริษัทบอกก็กลายเป็นความอิสระจากการรับผิดชอบของบริษัท ที่ผลักให้คนงานต้องรับผิดชอบต้นทุนและความเสี่ยงต่างๆ เอง
“ไม่ว่าจะรอออเดอร์จากร้านอาหาร 1 ชั่วโมง หรือ 3 ชั่วโมง คุณก็จะได้ประมาณ 88 บาทต่องาน ราคานี้ยังไม่รวมการหักค่านายหน้า 15 เปอร์เซ็นต์ แต่ในต่างจังหวัดไม่ว่าคุณจะรอนานเท่าไหร่หรือวิ่งรถเป็นระยะทางเท่าใด ค่ารอบกลับได้เพียง 15 บาท ผมเคยคำนวณกับเพื่อนว่าเฉลี่ยแล้ว 1 ชั่วโมงอาจทำได้ 2 งาน หรือประมาณ 40 กว่าบาท ซึ่งใกล้เคียงกับค่าแรงขั้นต่ำรายชั่วโมง แต่เป็นค่าแรงขั้นต่ำที่ยังไม่ได้หักต้นทุนค่ารถหรือค่าโทรศัพท์” พรเทพว่า
จากเดิมที่ไรเดอร์มีอำนาจกดเลือกงานที่คุ้มเหนื่อยได้ เทคโนโลยีกลายเป็นผู้ควบคุมรายใหม่ที่เข้ามาสั่งการอย่างเงียบๆ เช่น เมื่อคนขับเดินทางออกไปนอกเขตจังหวัดที่ตนเองลงทะเบียนไว้แต่แรก ระบบในแอปพลิเคชันจะบังคับให้คนงานเปิดรับงานทุกประเภทโดยอัตโนมัติ หากปฏิเสธงานที่แจ้งเตือนเข้ามาในระบบบ่อยครั้งเข้าก็จะถูกลงโทษด้วยการปิดระบบไม่ให้ทำงานอีก โดยที่พนักงานไม่สามารถโต้แย้งได้เลยเพราะเป็นการควบคุมด้วยระบบอัลกอริธึมที่ตั้งค่ามาเสร็จสรรพแล้ว
“Grab มีการแบ่งพื้นที่เป็นโซนด้านนอกและด้านใน เช่น ผมอยู่กรุงเทพ และขี่ออกไปยังจังหวัดนนทบุรี สมมติว่าปกติผมเป็น ‘สายวิน’ (วิ่งส่งคน) และสาย ‘เอ็กซ์เพรส’ (ส่งพัสดุ) ไม่ได้ชอบวิ่งส่งอาหาร แต่เมื่อข้ามเขตไปยังโซนนอก แพลตฟอร์มจะรีเซ็ตการตั้งค่าใหม่ บังคับให้เราทำทุกงานที่ได้รับเข้ามา หรือหากบ้านผมอยู่ที่บางนาแล้วระบบให้ผมไปส่งงานที่บางใหญ่ ผมต้องขับไปแล้วขับกลับมาฟรีอีก 30 กิโลเมตรหรือ ถ้าเราเป็นพนักงานอิสระ เราต้องมีสิทธิเลือกไม่รับงานที่ไม่คุ้มทุนไม่ใช่หรือ”
การออกแบบนโยบายบางอย่างเพื่อรีดประสิทธิภาพของคนขับให้วิ่งงานให้ได้เยอะที่สุดเป็นวิธีการเอารัดเอาเปรียบคนทำงานที่ไรเดอร์อย่างคุณพรเทพพยายามชี้ให้เห็นมาสักระยะหนึ่ง เขายกตัวอย่างงานแบตช์ (batch) หรืองานพ่วงของ Grab ที่วิธีการคำนวณทำให้ไรเดอร์มีรายได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อต้องรับงานพ่วงชิ้นที่สอง
“สมมติว่าผมส่งงานชิ้นหนึ่งจากสีลมไปสยาม ได้รับค่าตอบแทน 40 บาท และส่งคนจากสีลมไปบางรัก ตามหลักแล้วผมต้องได้อีก 40 บาท แต่แพลตฟอร์มฉลาด จะคำนวณงานชิ้นที่สองของเราเป็นงานแบตช์ และจ่ายเราเพียงครึ่งหนึ่งของงานแรก รวมได้เพียง 60 บาท”
นอกจากค่าตอบแทนที่ใช้อัลกอริธึมคำนวณให้แล้ว Grab ยังมีค่าตอบแทนแบบ “อินเซ็นทีฟ (incentive)” จูงใจให้พนักงานขยันทำงานหนักขึ้น โดยออกแบบให้พนักงานวิ่งเก็บไอเท็มเพชรไปด้วยระหว่างทำงาน คล้ายการเล่นเกม แต่พรเทพเล่าว่าหากเขารับงานแบตช์แล้ว ในทำนองเดียวกัน เพชรที่ควรจะเก็บได้กลับน้อยลง เช่น จากเดิมที่ควรได้งานชิ้นที่สอง 26 เพชรเท่างานแรก กลับได้เพียง 10 เพชรเท่านั้น
เขามองว่าเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายของแพลตฟอร์มที่เอาเปรียบคนทำงาน โดยที่ไรเดอร์โต้เถียงได้น้อยมากหรือไม่ได้เลย เพราะเป็นการคุยกับระบบ ไม่ได้คุยกับเจ้านายที่เป็นคนเหมือนงานส่งอาหารแบบเดิม
ปัญหาสากลของไรเดอร์ส่งอาหาร
ไม่ใช่แค่ไรเดอร์ในไทยเท่านั้นที่เผชิญกับปัญหาอันเกิดจากนโยบายและโมเดลการจ้างงานแบบใหม่ของบริษัทแพลตฟอร์ม อัศริน แก้วประดับ เจ้าหน้าที่องค์กร Solidarity Center ที่ทำหน้าที่ส่งเสริมสิทธิแรงงานทุกกลุ่ม โดยมีสำนักงานใหญ่ที่ประเทศสหรัฐ อ้างอิงผลงานวิจัยจาก International Transport Workers’ Federation (ITF) เพื่อชี้ให้เห็นว่าการทำงานของไรเดอร์ส่งผลเสียต่อสุขภาพคนงานในระยะยาว
ITF นิยามคนทำงานออนไลน์ว่าเป็น app-based worker หรือคนรับงานผ่านแอปพลิเคชัน โดยยกประเทศอินเดียขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา พบว่าคนงานกิ๊ก เหล่านี้ประสบกับความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนอันเนื่องมาจากการทำงานแข่งกับเวลา และมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเป็นโรคเรื้อรังอื่นๆ
“รายงานแจ้งว่าอาการหลักๆ ของไรเดอร์คือปวดหลัง จากการต้องขับยานพาหนะเป็นเวลานาน หลายรายมีอาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะเพราะต้องอั้นปัสสาวะเป็นเวลานานระหว่างขับขี่รถ รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา สูบบุหรี่เมื่อเคร่งเครียดกับงาน หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่คนสูบบุหรี่ นำไปสู่โรคหัวใจและโรคมือสั่นจากการขับรถเป็นเวลานาน”
ผลสำรวจของ ITF เมื่อปลายปีที่แล้วจนถึงต้นปีนี้ยังค้นพบอีกว่า คนงานแพลตฟอร์มยังมีหนี้สินเพิ่มขึ้น (สวนทางกับคำโฆษณาว่าการร่วมงานกับแพลตฟอร์มเป็นอาชีพเสริมที่มีรายได้ดี) เพราะคนงานต้องกู้ยืมเงินไปซื้อยานพาหนะ หรือโทรศัพท์มือถือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่ไม่มีหลักประกันการทำงานว่าหากพวกเขาประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจนขาดรายได้ จะทำอย่างไรกับหนี้สินเหล่านี้
“ในปี 2558 ช่วงแรกที่ Uber เข้ามายังอินเดีย ทุกคนตื่นเต้นมากว่าได้เงินเยอะ เฉลี่ยถึง 1,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อเดือน คนจึงแห่เข้าไปทำงาน แต่ในปี 2560 กลับพบว่ารายได้ลดลงไป 30-40% เพราะบริษัทเริ่มกำหนดมาตรฐานการทำงาน เช่น ต้องเปลี่ยนรถให้ตรงกับมาตรฐานที่บริษัทต้องการ จึงเกิดการกู้หนี้ยืมสิน” อัศรินกล่าว
ภาระทางการเงินของไรเดอร์กลายเป็นช่องทางให้บริษัทแพลตฟอร์มเสนอบริการใหม่ให้กับคนทำงาน โดยเข้าไปเจรจากับสถาบันการเงินให้อำนวยความสะดวกแก่ไรเดอร์ที่ต้องการซื้อรถรุ่นดีขึ้น แต่ไม่ได้เพิ่มรายได้ให้กับไรเดอร์ ตรงกันข้าม บริษัทพยายามทำให้ตัวเองติดตลาดด้วยการนำเสนอโปรโมชันให้กับลูกค้าด้วยการลดค่าบริการ ซึ่งส่งผลให้รายได้ของไรเดอร์ลดลง
“ก่อนหน้านี้คนที่เข้ามาทำงานบนแพลตฟอร์มอาจเห็นว่าเป็นรายได้เสริมที่ขับรถไม่กี่ชั่วโมงก็มีรายได้สูง และหลายคนก็ลาออกจากงานประจำมาเป็นไรเดอร์เต็มตัว โดยไม่คำนึงอย่างถี่ถ้วนถึงผลกระทบ เช่น อุบัติเหตุหรืออาการปวดหลังที่อาจรักษาไม่หาย หนี้สิน และไม่มีประกันสังคมหรือสวัสดิการอื่นรองรับ”
อัศรินตั้งข้อสังเกตว่าพรเทพและไรเดอร์ในประเทศไทยก็กำลังเผชิญปัญหาไม่ต่างกัน แต่ไม่มีการรวบรวมสถิติและหลักฐานเอาไว้อ้างอิงอย่างเป็นระบบ
ในขณะที่ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดูแลสิทธิแรงงาน รวมถึงคนงานก็ไม่มีช่องทางสื่อสารปัญหากับบริษัทแพลตฟอร์มหรือบริษัทแม่ที่ต่างประเทศได้ อัศรินเสนอว่าในต่างประเทศมีการรวมกลุ่มของคนทำงานอย่างไม่เป็นทางการภายใต้รูปแบบสหพันธ์แรงงานแพลตฟอร์ม ซึ่งใกล้เคียงกับสิ่งที่พรเทพและเพื่อนๆ พยายามรวบรวมสมาชิกกันอยู่
ไรเดอร์ต้องรวมตัวเพื่อช่วยเหลือกันเอง เพราะแพลตฟอร์มไม่เหลียวแล
พรเทพเล่าเมื่อครั้งที่สื่อออนไลน์ De/Code ของไทยพีบีเอสมาสัมภาษณ์ว่า ตนเคยประสบอุบัติเหตุรถยนต์ชนท้ายรถมอเตอร์ไซค์ขณะจอดติดไฟแดงระหว่างที่รับลูกค้ามาด้วย เขาจึงโทรหาคอลเซ็นเตอร์ของบริษัท และได้รับคำแนะนำให้ไปโรงพยาบาลพร้อมกับลูกค้า โดยสัญญาว่าคนขับสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลส่วนเกินจากประกัน พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ได้
“พ.ร.บ. คุ้มครองเราในวงเงิน 30,000 บาท และคุ้มครองคู่กรณีอีก 30,000 บาท หากไม่บาดเจ็บสาหัสก็ไม่มีทางเกินวงเงินหรอก” พรเทพชี้
“เราไม่ได้เจ็บอะไรมาก เพียงแต่กระดูกงอและเดินไม่ได้ โรงพยาบาลให้เรานอนรักษาตัว 1 สัปดาห์ก็ปล่อยให้พักฟื้นต่อที่บ้านได้ แต่ระหว่างอยู่บ้านเราจะเอาอะไรกิน เอาอะไรใช้ จึงตัดสินใจโทรไปหา Grab อีกครั้ง แต่บริษัทยืนยันว่าจะจ่ายค่ารักษาให้ต่อเมื่อเกินจาก พ.ร.บ. เท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมการขาดรายได้ช่วงหยุดงาน”
เขาบอกว่าก่อนหน้านั้นเขาเข้าร่วมกลุ่ม Grab สันทนาการทิ้งไว้อยู่แล้ว จากคำแนะนำของเพื่อนที่บอกให้เข้ามารู้จักกันไว้ แต่ก็ไม่เคยพูดคุยอะไรกับสมาชิกคนอื่นเลยจนกระทั่ง 1 ปีผ่านมาที่เขาประสบอุบัติเหตุแล้วรู้ว่าบริษัทไม่เข้ามาช่วยเหลือ
กลุ่ม Grab สันทนาการที่พรเทพเคยเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มไลน์จึงกลับมามีบทบาทช่วยเหลือสมาชิกอย่างเช่นพรเทพ โดยเพื่อนๆ ที่ได้ยินข่าวต่างช่วยบริจาคคนละเล็กละน้อยเป็นค่าเลี้ยงชีพระหว่างที่เขาขาดรายได้ รวมแล้วประมาณ 20,000 บาท
พรเทพเล่าว่าปกติแล้วเขาทำงานได้วันละ 1,000 บาท เงินช่วยเหลือจากกลุ่มเพื่อนจึงเป็นจำนวนเงินไม่มากเมื่อเทียบกับรายได้ที่เขาควรจะหาได้หากยังทำงานได้ปกติ แต่ก็ยังดีกว่าบริษัทที่ไม่มาช่วยเหลือเลย ซ้ำร้ายเมื่อไรเดอร์บางรายประสบอุบัติเหตุ เช่น ยางแตก หรือรถลื่นจากฝนตก แล้วรีบโทรไปแจ้งคอลเซ็นเตอร์เพื่อไม่ให้เสียงาน หลังจากคอลเซ็นเตอร์รับเรื่องแล้ว ไรเดอร์รายนั้นกลับถูกปิดระบบชั่วคราว เป็นการลงโทษที่เขา ‘ขับรถโดยประมาท’
“ในกลุ่ม Grab สันทนาการเราก็ช่วยเหลือกันเองมาหลายเคส ทั้งกรณีบาดเจ็บและเสียชีวิต และกำลังยื่นคำร้องไปยัง Grab ว่าบริษัทควรรับผิดชอบ แต่บริษัทก็เคยปฏิเสธมาว่าเราเกิดอุบัติเหตุตอนที่ไม่มีงานติดตัวอยู่ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วหลายเคสที่เกิดอุบัติเหตุก็อยู่ระหว่างที่คนขับออนไลน์อยู่บนแอปพลิเคชัน หรือเกิดจากไรเดอร์ต้องเร่งทำเวลาให้วิ่งงานได้หลายรอบมากขึ้น เพื่อชดเชยนโยบายลดค่ารอบของบริษัท”
อุปสรรคในการสร้าง “สมานฉันท์” ของไรเดอร์บนโลกออฟไลน์
กลุ่ม Grab สันทนาการมีจุดเริ่มต้นมาจากกลุ่มไลน์ แต่เมื่อไลน์มีข้อจำกัดว่าไม่สามารถรับสมาชิกจำนวนมากๆ ได้ กลุ่มจึงย้ายไปรวมตัวบนเฟซบุ๊ก ปัจจุบันหากนับรวมสมาชิกในกรุ๊ป Grab สันทนาการ และเพจ Grab สันทนาการ Family กลุ่มนี้มีสมาชิกอยู่ประมาณ 30,000 คน พรเทพเล่าว่า สมาชิกมาจากไรเดอร์ที่รู้สึกถึงความเดือดร้อนจากนโยบายของบริษัท เช่น นโนบายลดค่ารอบ ที่ค่อยๆ มารวมตัวกันในช่อง 2-3 ปีที่ผ่านมา สมาชิกส่วนใหญ่จึงเป็นไรเดอร์ของ Grab อย่างไรก็ตาม มีไรเดอร์จากบริษัทแพลตฟอร์มอื่นเข้ามาร่วมด้วย เพราะพวกเขาถือว่าผู้ให้บริการต่างๆ ล้วนเป็นพี่น้องกัน
นอกจากกลุ่มสันทนาการ ที่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นไรเดอร์ของ Grab ยังมีกลุ่มอื่นๆ อีกประมาณ 3-4 กลุ่ม ที่มีสไตล์การต่อสู้แตกต่างกันไป เช่น กลุ่ม official, กลุ่มกูขับ Grab Bike, กลุ่มกูขับ Grab Food พรเทพกล่าวว่ามีคำสแลงสำหรับแบ่งประเภทกลุ่มของเขาไว้ว่าเป็น ‘สายดาร์ก’ หรือหนึ่งในไม่กี่กลุ่มที่เปิดพื้นที่ให้คนเล่าประสบการณ์การกดทับจากบริษัท และกล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์บริษัทตรงๆ
เขาบอกอีกว่า การเป็นกลุ่มที่มีจุดยืนว่าจะไม่ปิดปากเงียบหากรู้สึกว่าถูกบริษัทละเมิดสิทธิ ทำให้เขาและสมาชิกกลุ่มได้รับคำตำหนิบ่อยครั้งว่า “ไม่พอใจก็ไปวิ่งแอปฯ อื่น” เขาบอกว่าตนเองเพียงแต่ทำในสิ่งที่เห็นว่าเป็นช่องว่างที่พอจะเสนอให้บริษัทอุดได้ แต่ก็ยอมรับว่าการขับเคลื่อนด้วยกลุ่มสันทนาการอาจทำได้ไม่เต็มที่อย่างที่ตั้งใจไว้ สาเหตุหนึ่งเพราะกลุ่มเคยวางแผนจะร่างจดหมายเรียกร้องไปยังบริษัท แต่ก็มีโรคระบาด Covid-19 ขึ้นก่อน เป็นจังหวะให้บริษัทเปลี่ยนแปลงนโยบายทำงานพอดี จดหมายเดิมที่เคยร่างไว้ก็เป็นอันใช้ไม่ได้
พรเทพกล่าวว่า อีกสาเหตุที่เป็นอุปสรรคต่อการรวมกลุ่มเรียกร้อง เพราะไรเดอร์บางส่วนอาจไม่พร้อมหรือไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องสิทธิจากบริษัท รวมทั้งบริษัทก็พร้อมเปิดรับไรเดอร์ใหม่ๆ เข้ามาแทนที่คนงานเก่าอยู่เสมอ
ก่อนหน้าจะเกิดการนัดกันปิดระบบของไรเดอร์คนขับ Grab ทุกสายงานทั่วประเทศ อันเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมใหญ่ที่อาคารธนภูมิ กรุงเทพ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม เพื่อกดดันให้บริษัททำตามข้อเรียกร้อง พรเทพเล่าว่าในช่วงเตรียมตัวก่อนหน้านั้นประมาณเดือนกรกฎาคม พบปัญหาว่าไรเดอร์หลายคนประกาศว่าจะไม่เข้าร่วมการประท้วงกับกลุ่ม
“จากปัญหาการลดค่ารอบในต่างจังหวัด คนจากหลายกลุ่มก็อยากให้มีการรวมตัวเพื่อต่อรองกับบริษัท คนกรุงเทพกลุ่มหนึ่งก็บอกว่า คุณก็ไปกันสิ ผมจะวิ่งงาน มันไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อาจเพราะบางคนไม่เจอปัญหากับตัวเอง ในกรุงเทพค่ารอบยังอยู่ที่ 40 บาท บางคนอาจบอกว่าอยู่ได้ แต่ผมจะถามกลับไปว่า คุณต้องรอให้ค่ารอบเหลือเพียง 15 บาทเหมือนต่างจังหวัดจึงจะออกมาประท้วงหรือ”
การจำแลงกายของนายจ้างยุคใหม่กับโอกาสในการยกระดับการรวมกลุ่ม
พรเทพกล่าวว่าเขาและไรเดอร์ในกลุ่มคาดหวังให้บริษัทแสดงความเห็นอกเห็นใจคนทำงานที่กำลังเดือดร้อน เช่นเดียวกับอภันตรีที่ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า แม้ว่าบริษัทแพลตฟอร์มพยายามหลีกเลี่ยงการรับผิดชอบคนหลายหมื่นคนที่ทำงานให้กับบริษัทอย่างสุดความสามารถ เธอเห็นว่าไม่ว่านายจ้างยุคใหม่จะจำแลงกายมาในรูปแบบใด สิทธิของคนทำงานก็ไม่ควรลดลงไปจากเดิม
“รัฐบาลอาจต้องออกกฎหมายหรือนโยบายใหม่ เพราะแพลตฟอร์มดิจิทัลเดินทางมาถึงแล้วตั้งแต่ปี ‘58-59 ผ่านมา 3-4 ปี รัฐยังเดินตามเขาอยู่ ยังไม่รู้เลยว่านายจ้างควรรับผิดชอบลูกจ้างอย่างไร แม้แต่ลูกจ้างก็ยังสับสนว่าเขาอยู่ในระบบไหนของแรงงาน จะมีสิทธิสวัสดิการเท่าไหร่” อภันตรีกล่าว
อภันตรีให้ความเห็นว่า สหภาพแรงงานทำให้คนงานมีอำนาจต่อรองในระยะยาว และช่วยทำให้การจ้างงานมั่นคงขึ้น เป็นธรรมกับคนงานมากขึ้นได้
“สมัยก่อน เราใช้เวลาถึง 8 ปีกว่าจะยื่นข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างได้ เพราะต้องต่อสู้กับนายจ้างของสมาชิกทั่วประเทศที่ขัดขวางการตั้งสหภาพคนงานฟาสต์ฟู้ด แต่เราจะต้องทำให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของงาน ให้มีการประกันรายได้หรือสวัสดิการของคนทำงาน การรวมกลุ่มเป็นสิ่งจำเป็น”
เธอทราบว่าอดีตคนงานขับรถส่งอาหารฟาสต์ฟู้ดหลายรายย้ายมาทำงานกับแพลตฟอร์มส่งอาหาร ในฐานะอดีตแกนนำจัดตั้งคนขับรถ Delivery Wow เมื่อหลายปีก่อน อภันตรีมองว่าข้อได้เปรียบของไรเดอร์ส่งอาหาร Grab ในยุคนี้คือมีแพลตฟอร์มเป็นพื้นที่เสมือนจริงให้คนงานสามารถรวมกลุ่มกันได้จากระยะไกล
“เราอยากจะแนะนำว่าการรวมกลุ่มจัดตั้งสหภาพไม่ได้ยาก ต้องถามใจเราก่อนว่าเรามีความมุ่งมั่นต่องานของเราในระยะยาวหรือเปล่า เราอยากได้ความมั่นคงในชีวิตการทำงานหรือเปล่า เราอยากได้ชีวิตที่ทำงานแล้วกลับมาหาครอบครัวอย่างปลอดภัย หรือเราอยากจะไปเสี่ยงบนถนนโดยที่เราไม่รู้ว่าเราจะได้กลับบ้านหรือเปล่าในวันนั้น” อภันตรีกล่าว
เธอเสริมว่า คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาการจ้างงานแบบใหม่ โดยได้เสนอการแก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพื่อเปลี่ยนแปลงนิยามคำว่านายจ้างและลูกจ้างใหม่ให้สอดคล้องกับการทำงานบนแพลตฟอร์ม แล้วยกระดับคนงานบนแพลตฟอร์มให้มีสิทธิเท่าเทียมกับคนงานประเภทอื่นๆ และแก้ไข พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ที่กำหนดข้อจำกัดในการรวมกลุ่มด้วย ซึ่งขณะนี้กำลังยื่นเสนอกรรมาธิการให้มีการส่งเรื่องต่อไปยังรัฐบาล และถ้าหากไรเดอร์ส่งอาหารต้องการรวมกลุ่มกัน เธอและ คสรท. พร้อมจะช่วยเหลือให้ความรู้ทางกฎหมายด้วย
ความไม่ลงรอยระหว่างสถานะที่ไม่มั่นคง กับการขับเคลื่อนเพื่อการรวมตัวในระยะยาว
ตามประสาคนที่ยังทำงานอยู่กับบริษัท Grab แต่เปิดหน้าสู้กับบริษัทมานานและต้องแบกรับราคาของการเรียกร้องสวัสดิการมากกว่าใครอีกหลายคน พรเทพยังกังวลว่าการยกระดับกลุ่มการรวมตัวอย่างไม่เป็นทางการกลายเป็นสหภาพแรงงานจะส่งผลถึงการมีงานทำของไรเดอร์หรือไม่
“ผมเริ่มแล้วแต่หลายคนไม่กล้าตาม เพราะทุกคนกลัวว่าหากเราประท้วงแล้วถูกบริษัทปิดระบบ ก็จะตกงานกันหมด อย่างผมคงโดนแน่เพราะบริษัททราบชื่อสกุลหมดแล้ว ไม่มีใครรับประกันเราได้ว่าการตั้งสหภาพแรงงานจะไม่ทำให้เราตกงาน”
อัศรินเข้าใจความกังวลนี้ และยืนยันว่า สิทธิการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรองเป็นเสรีภาพที่คนงานทุกคนย่อมทำได้ เพราะมีอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) รับรองสิทธิไว้
เธอย้ำว่า หากคนงานส่งอาหารและคนงานแพลตฟอร์มอื่นๆ ไม่ลุกขึ้นมารวมตัวเรียกร้อง ก็ไม่มีนายจ้างคนใดจะหยิบยื่นสวัสดิการให้เปล่าๆ ที่ผ่านมาสิทธิประโยชน์ที่ได้รับการบรรจุไว้ในกฎหมายก็มาจากการเรียกร้องของคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม ในรัฐวิสาหกิจ และคนงานภาคส่วนอื่นๆ ทั้งสิ้น
“เราตกใจและดีใจว่ากลุ่ม Grab สันทนาการสามารถรวมไรเดอร์ได้ถึง 25,000-30,000 คน หากหยุดงานพร้อมกันคงสร้างผลกระทบขนาดใหญ่ เช่น ลูกค้าไม่ได้กินอาหาร อย่างที่บอกว่าอำนาจต่อรองอยู่ในมือเราเลย”
อัศรินยกตัวอย่างการต่อรองที่สหพันธ์คนงานขนส่งผ่านแอปพลิเคชันแห่งประเทศอินเดีย (Indian Federation of App-based transport workers: IFAT) ซึ่งมีไรเดอร์ส่งอาหารเข้าเป็นสมาชิกว่าสหพันธ์มีการยื่นข้อเรียกร้องไปถึงรัฐบาลอินเดียและบริษัทในช่วง Covid-19 ให้มีการจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันโรค เช่น เจลล้างมือ หรือชุด PPE ให้กับคนขับที่ต้องทำงานภายใต้ความเสี่ยง รวมถึงขอเพิ่มค่าโดยสาร และต่อรองขอลดค่านายหน้า (commission) ที่บริษัทจะหักไป 20% จากรายได้ที่คนทำงานหาได้ให้เหลือ 5%
IFAT เริ่มประท้วงมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน และยังคงยืนยันที่จะเรียกร้องต่อไปในเดือนสิงหาคม โดยเน้นย้ำข้อเสนอหลักให้บริษัทลดค่านายหน้าเหลือไม่เกิน 5% นี่คือเกมยาวแห่งการใช้เสรีภาพในการรวมกลุ่มเพื่อแสดงออกว่าคนงานแพลตฟอร์มก็เป็นคนงานที่สมควรได้รับสิทธิต่างๆ ๆ ไม่ต่างจากคนงานประเภทอื่น
“ไม่ใช่แค่เราลุกมาต่อสู้เพื่อตัวเรา แต่หน่วยงานรัฐและนายจ้างก็ต้องเข้าใจว่านี่คือสิทธิพื้นฐานที่ลูกจ้างควรได้รับด้วยเช่นกัน” อัศรินสรุป
ไกลไปมั้ยที่จะเรียกร้องแพลตฟอร์มของคนงาน โดยคนงาน เพื่อคนงาน
จะเป็นอย่างไรหากไรเดอร์เหล่านี้ไม่ต้องคอยเรียกร้องสิทธิแรงงานจากบริษัทแพลตฟอร์ม แต่ร่วมกันเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม ที่พวกเขามีส่วนกำหนดความหมายของความเป็นอิสระอย่างแท้จริง? จินตนาการเหล่านี้อาจเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีคนพูดถึงกันมากนัก แต่เริ่มมีการทดลองทำแล้วทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
ลา ปาฆารา ซิโกลเมนซาเฆเรีย (La Pájara Ciclomensajeria) คือกลุ่มคนงานส่งอาหารในประเทศสเปนที่ประสบปัญหาถูกกดขี่จากบริษัทแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ที่เป็นเจ้าตลาดในประเทศ เช่น Deliveroo หรือ Uber Eats จนได้มารวมตัวกันเขียนโปรแกรมแอปพลิเคชันขนส่งอาหารใหม่ ชื่อ ‘CoopCycle’ (ชมเรื่องราวของพวกเขาได้ที่ Reclaiming Work-ทวงคืนงาน)
กลุ่มลา ปาฆาราฯ บอกว่าการเขียนโปรแกรมซึ่งเป็นเหมือนโปรแกรมเลียนแบบการทำงานของแพลตฟอร์มรายใหญ่ เป็นการ ‘ใช้เครื่องมือของทุนนิยมมาสนับสนุนสังคมนิยม’ CoopCycle กลายเป็นสหกรณ์คนส่งอาหารที่ปกครองโดยคนส่งอาหาร เพื่อคนส่งอาหาร เป็นไปเพื่อทวงคืนศักดิ์ศรีและอำนาจอิสระในการกำหนดรูปแบบงานของตัวเองอย่างแท้จริง
อัศรินเสริมว่า สหภาพแรงงานในประเทศยูกันดาก็มีการตั้งแพลตฟอร์มของคนงาน ‘Riding App’ เพื่อให้คนที่ต้องการทำงานเป็นพนักงานขับรถ หรือพนักงานขนส่งที่เป็นสมาชิกสหภาพได้เข้ามาทำงาน เพื่อเป็นการตอบโต้การทำธุรกิจของ Uber ที่ชาวท้องถิ่นมองว่าเป็นบริษัทข้ามชาติที่หวังตักตวงประโยชน์จากคนงานและลูกค้าในยูกันดาเท่านั้น
ในประเทศไทย เริ่มมีการทดลองทำแพลตฟอร์มทางเลือก เช่น ‘ตามสั่งตามส่ง’ แพลตฟอร์มสั่งอาหารผ่านไลน์ที่กระจายงานส่งอาหารให้วินมอเตอร์ไซค์ในพื้นที่ถนนลาดพร้าว 101 เพื่อเป็นทางเลือกแทนแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่มักเรียกเก็บจากไรเดอร์หรือร้านค้า หรือ ‘Locall’ แพลตฟอร์มเพื่อชุมชนที่รวมรวบเมนูของร้านค้าและร้านอาหารขนาดเล็กในชุมชนให้กับผู้บริโภค โดยกระจายงานให้กับวินมอเตอร์ไซค์และเก็บค่าธรรมเนียมต่ำกว่าแพลตฟอร์มกระแสหลัก อย่างไรก็ดี แพลตฟอร์มทางเลือกทั้งสองยังไม่ได้เกิดขึ้นจากกลุ่มคนทำงานเป็นผู้ริเริ่ม หรือคนงานกลับไม่ได้มีอำนาจการตัดสินใจในการร่วมออกแบบนโยบายและรูปแบบของงาน หรือบริหารจัดการแพลตฟอร์มแต่อย่างใด
ตราบใดที่คนงานยังเป็นเพียงผู้มีส่วนได้เสียที่ต้องรอรับโอกาสที่หยิบยื่นจากเจ้าของแพลตฟอร์ม ไม่ว่าแพลตฟอร์มนั้นจะเป็นธุรกิจเต็มรูปแบบ ธุรกิจเพื่อสังคม หรือองค์กรไม่แสวงหากำไรก็ตาม นั่นเท่ากับว่าอำนาจการตัดสินใจยังคงอยู่ในมือผู้ที่เป็นเจ้าของทุนและเทคโนโลยี และคนงานเหล่านี้ก็ยังคงเปรียบเสมือนส่วนต่อขยายของแพลตฟอร์ม ที่อาจไม่ต่างอะไรจากไซบอร์ก (cyborg) ที่ถูกควบคุมจากคอมพิวเตอร์ในการทำงาน แต่ยังคงมีชีวิตจิตใจและความต้องการของตัวเอง
สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม เชื่อว่าสิทธิในการรวมกลุ่มและความมั่นคงของงานนั้นเป็น “เงื่อนไขที่จำเป็น” ของไรเดอร์ ที่จะยกระดับอำนาจต่อรองเรื่องปแบบการทำงานของพวกเขาเองขึ้น อำนาจต่อรองนี้จะเป็นเงื่อนไขที่เพียงพอสำหรับความเป็นอิสระที่พวกเขาต้องการอย่างแท้จริง
ความมั่นคงของงานและเสรีภาพในการรวมตัวกันนั้นจึงเป็นปัจจัยพื้นฐาน เปรียบเสมือนบันไดสู่เสรีภาพในการจินตนาการถึงการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มแบบ collective ร่วมกัน ในเสวนาตอนหนัา เราจะพูดคุยกันถึงนโยบายและระบบนิเวศของการส่งเสริมธุรกิจแพลตฟอร์มในประเทศไทย ว่าจะเอื้อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่คนงานจะเป็นเจ้าของได้หรือไม่
*หมายเหตุ เสวนานี้จัดขึ้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2563 หรือก่อนที่ไรเดอร์แกร็บประมาณหนึ่งพันคนได้รวมตัวประท้วงที่ตึกธนภูมิ สำนักงานใหญ่ของบริษัทแกร็บ ประเทศไทย ในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 และได้มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทแกร็บ ซึ่งต่อมา บริษัทได้ตอบรับว่าจะปรับเปลี่ยนและแก้ไขวิธีการทำงานของแอ็ปพลิเคชั่นในบางเรื่อง
ชมบันทึกการพูดคุยได้ที่ Youtube Channel ของสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม