ในวันที่การงานแห่งอนาคตพามนุษย์กลับไปทำงานหนักและเปราะบางยิ่งกว่ายุคไหน ๆ คุยกับนักวิชาการแรงงาน จาก ‘แรงงานขี่มอเตอร์ไซต์ส่งอาหาร’ ถึง ‘เศรษฐกิจสมานฉันท์’ ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร ผู้อำนวยการสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Just Economy and Labor Institute; JELI)
มองไปข้างหน้า แล้วหันกลับมาสู่เบสิก
เมื่อแพลตฟอร์ม + ระบบสหกรณ์ = ทางเลือกหนึ่งของเศรษฐกิจในอนาคต
หมายเหตุ: เนื้อหาอาจจะยาว แต่คงไม่เท่าปัญหาของแรงงานในประเทศนี้
“เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมแบบดิจิทัล ความรุดหน้าของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดที่ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ขณะเดียวกันได้นำสังคมกลับไปสู่ยุคหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกเมื่อกว่า 150 ปีที่ผ่านมา เมื่อคนต้องทำงานยาวนานเฉลี่ยถึง 10 – 12 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้มีรายได้ในระดับที่เพียงพอต่อการยังชีพ”
หนึ่งข้อความจากงานวิจัย ‘รูปแบบงานใหมของคนขี่มอเตอรไซต์ส่งอาหารที่กำกับโดยแพลตฟอร์ม’ โดย ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร และวรดุลย์ ตุลารักษ์ ระบุไว้อย่างนั้น
เมื่อ…
‘แพลตฟอร์ม’ ทำหน้าที่เป็น ‘นายหน้า’ จับคู่ความต้องการแรงงาน
‘ลูกค้า’ เป็น ‘ผู้ซื้อบริการส่งอาหาร’
‘คนงานส่งอาหาร’ เป็น ‘ผู้เสนอขายบริการ’
‘แพลตฟอร์ม’ทำหน้าที่เสนอซื้อกำลังแรงงานจากคนงานส่งอาหารอีกทอดหนึ่ง
คนขี่มอเตอร์ไซต์ส่งอาหารจะถูกเชิญชวนให้เข้ามาเป็น ‘คนขับหุ้นส่วน’ หรือ ‘rider partner’ ด้วยการโหมประชาสัมพันธ์ถึง ‘ความอิสระ’ ที่สามารถบริหารเวลาส่งอาหารด้วยตนเอง แต่ ‘ความอิสระ’ ที่แท้กลับอยู่ที่บริษัทแพลตฟอร์ม เพราะมีอิสระเต็มที่ในการกำหนดราคา ค่าบริการ ค่าแรงคนงาน รวมถึงส่งต่อภาระต้นทุนเช่น ยานพาหนะ เชื้อเพลิง ค่าเสื่อมราคา สวัสดิการ และประกันอุบัติเหตุไปให้คนงานเกือบทั้งหมด
ในสังคมไทยที่มีทางเลือกให้ไม่มาก การย้ายจากงานที่ไม่มั่นคงเดิม ไปตายเอาดาบหน้ากับงานที่ไม่มั่นคงใหม่ ย้ายจากการเป็นแรงงานรับจ้าง รายได้ต่ำ เงินเดือนน้อย แรงงานสัญญาระยะสั้น หรือการเป็นลูกน้องที่ต้องทน เบื่อหน่ายกับอำนาจนิยมของเจ้านายในงานประจำ ไปสู่ความไม่แน่นอนที่ไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้อัลกอริทึมของแอปพลิเคชันจะมาแบบไหน ไปสู่การเป็นหุ้นส่วนแต่ไม่ได้รับรู้ข้อมูลกำไร เงินเดือนผู้บริหารเพื่อนำมาต่อรองและแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรม
ช่างเถอะ แต่ก็ยังดีกว่างานเก่า !
รายได้ที่จูงใจในช่วงแรกก็เป็นส่วนหนึ่งของเหตุผล แต่ไม่ใช่ตลอดไป เพราะแรกเริ่มธุรกิจแพลตฟอร์มจะอุดหนุนให้มีคนเข้ามาในระบบเครือข่ายมากที่สุดแล้วเก็บเกี่ยวรายได้และผลกำไรภายหลัง เปิดรับสมัครคนงานไม่จำกัดจำนวนเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนโดยไม่หยุดชะงัก รับสมัครง่าย ลดขั้นตอนยุ่งยากให้เหลือน้อย
แพลตฟอร์มส่วนใหญ่จ่ายค่าตอบแทนเป็นรายชิ้นต่อรอบที่วิ่ง เพื่อควบคุมต้นทุนแรงงานในระยะยาว กระตุ้นให้แรงงานทำงานรวดเร็วในจำนวนที่มากขึ้น นี่เป็นรูปแบบดั้งเดิมที่ถูกใช้แพร่หลายในการจ้างงานตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะเดียวกันก็มีลักษณะของการการเปลี่ยนงานกลายเป็นเกม (Gamified Practices) ด้วยแรงจูงใจ (Intensive) ที่ปรับเปลี่ยนไปตลอด เช่น เมื่อส่งอาหารเกินรอบที่กำหนดจะได้รับ ‘เพชร’ สะสม มีการเลื่อนขั้นจากคนส่งอาหารธรรมดาเป็น ‘วีไอพี’ หรือ ‘ฮีโร่’ คนงานต้องเรียนรู้และตีโจทย์ Incentive ให้แตกว่าจะทำอย่างไรให้ได้เงินมากขึ้น
ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเล่นเกมเก่ง
การจ่ายค่าตอบแทนรายชิ้นกับแรงจูงใจ มีส่วนให้คนงานต้องรีบเร่ง มีผลต่อความเครียด มีโอกาสที่จะเกิดความพลาดและอุบัติเหตุ และในระยะหลังค่าตอบแทนต่อรอบลดลง เพราะการแข่งขันทางตลาดที่สูงขึ้นหรือบริษัทแพลตฟอร์มลดการอุดหนุน นั่นหมายถึงพวกเขาก็ต้องยิ่งทำงานยาวนานขึ้น เราจึงเห็นภาพการประท้วงของคนขี่มอเตอร์ไซต์ส่งอาหารในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงที่ไทย ในขอนแก่น อุดรธานี ภูเก็ต นครศรีธรรมราช
งานวิจัยชี้ให้เห็นปรากฏการณ์ของแรงงานแพลตฟอร์มส่งอาหาร ซึ่งในภาพรวมเป็นแรงงานกลุ่มใหม่ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกและถูกนิยามว่าเป็นแรงงานที่ไม่มีความมั่นคง ประเทศไทย – ภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ (ในที่นี้หมายรวมถึงงานนอกระบบ งานที่ไม่ได้รับการคุ้มครองหรือได้รับการคุ้มครองอย่างไม่เพียงพอ) มีขนาดใหญ่กว่าภาคเศรษฐกิจที่เป็นทางการ ยังไม่มีการสำรวจข้อมูลกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมส่งอาหาร ด้านธุรกิจแพลตฟอร์มก็ยังไม่ได้ถูกกำกับดูแลจากภาครัฐและไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบรวบรวมสถิติคนทำงาน รายได้ และส่วนแบ่งการตลาด
เราจะทำอย่างไรกับรูปแบบการจ้างงานใหม่ ที่มีความซับซ้อน เป็นพลวัต และไม่ตรงไปตรงมา
ในงานวิจัยของอาจารย์พูดถึงกรณีศาลสเปนรับรองให้คนส่งอาหารเป็นลูกจ้างของบริษัทแพลตฟอร์มจึงต้องพิจารณาความคุ้มครองต่างๆ ตามกฏหมาย เพราะคนงานอยู่ภายใต้คำแนะนำที่เฉพาะเจาะจง คือเมื่อมีการรับออเดอร์ คนส่งอาหารก็ต้องทำตามคำสั่งที่บริษัทกำหนดโดยไม่มีอิสระแม้แต่น้อย
ในยุโรปก็มีแนวปฏิบัติ หรือกฏหมายใหม่ในแคลิฟอร์เนียก็วางแนวให้คนทำงานกับ Gig Economy ต้องมีสถานะเป็น ‘คนงาน’ หรือการตัดสินของศาลสเปนก็เป็นแนวโน้มที่เห็นทั่วโลกว่าในประเทศที่มีภาคเศรษฐกิจแบบนี้มานาน รัฐเขาเริ่มตอบรับในเชิงนโยบาย วางหลักการคุ้มครองให้คนทำงานมากขึ้น
และอีกส่วนที่อาจเป็นตัวอย่างของการจัดการปัญหานี้ คือการให้คนทำงาน ผู้ประกอบการขนาดเล็กเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มด้วยตัวเอง ภาครัฐอาจเข้ามาส่งเสริมเรื่องเงินทุน หรือการวางระบบนิเวศใหม่ อุดหนุนให้คนทำงานที่รวมตัวกัน ทำธุรกิจเดียวกัน สามารถเป็นเจ้าของเทคโนโลยีในราคาไม่สูงมากนัก แต่รัฐจะต้องทำงานหนักมาก เริ่มต้นเลยรัฐจำเป็นต้องตามให้ทันว่ามันเกิดอะไรขึ้นในภาคเศรษฐกิจใหม่และการจ้างงานใหม่
สำหรับสังคมไทย อาจารย์มอง Solution จริง ๆ คืออะไร
ภาคเศรษฐกิจนี้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สิ่งที่ทำตอนนี้ คือการพยายามทบทวนกฏ-กติกาให้คุ้มครองงานใหม่มากที่สุด เป็นส่วนที่ต้องทำเฉพาะหน้าระยะสั้นก่อน อันนี้เป็นโจทย์ของภาครัฐ จะใช้วิธีไหน เปลี่ยนแปลงกฏหมายหรือให้ประกันอุบัติเหตุ ถ้าถามว่าทุกวันนี้คนทำงานกลุ่มนี้ เขามีสิทธิที่จะได้ค่าจ้างขั้นต่ำหรือเปล่า คิดว่าก็ยังไม่มีใครฟันธงได้นะ อย่างน้อยถ้าเราทำไม่ได้ ก็จัดอันนี้ให้เขาเถอะ
เราเห็นว่าเขาเป็นแค่คนส่งอาหาร แต่จริง ๆ เขาเป็นแรงงาน
การเกิดขึ้นของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มทำให้อย่างน้อยผมตั้งข้อสังเกตว่าการเจริญเติบโตของภาคเศรษฐกิจนี้ ถูกกำกับแค่หนึ่ง ความสะดวกสบายของผู้บริโภค กับ สอง การพยายามที่จะสร้างรายได้ของธุรกิจแพลตฟอร์ม ผมรู้สึกว่าเราเองละเลยสิทธิคนทำงานไปค่อนข้างมาก
ในขณะที่คนงานแพลตฟอร์มเข้ามาทำงานที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคมากขึ้นและมีความขัดแย้ง ความตึงเครียดจากผู้บริโภค ทำให้เรารู้สึกว่าภาคประชาสังคมละเลย ไม่ค่อยพูดถึงสิทธิคนทำงาน เราเป็นผู้บริโภคเราก็ไม่ค่อยได้ยินเสียงของคนทำงาน การเติบโตของภาคเศรษฐกิจใหม่อาจเป็นจุดที่กลับมานั่งทบทวนวิถีการทำงานของคนหาเช้ากินค่ำมากขึ้น
‘แรงงานแพลตฟอร์ม’ เราควรมองแบบไหน
ถ้าพูดแรงงานมีทางไปไม่เยอะ เทคโนโลยีทำให้เขาถูกตัดออกไป แยกส่วนออกไปจากคนอื่น ตอนนี้เวลาทำงานเขาก็ทำทุกอย่างเหมือนตัวคนเดียว ต้องจัดการปัญหาคนเดียว แบกรับภาระ – รับผิดชอบคนเดียว ดังนั้นการรวมกลุ่มเขาสามารถช่วยเหลือกันได้เยอะ แต่ว่าสิ่งที่ไม่เห็นด้วยคือบางอย่างที่เขาไม่ควรทำ ก็ทำเอง เพราะว่าจริง ๆ เป็นหน้าที่ของนายจ้าง แต่นายจ้างไม่ทำ เขาก็ทำเอง เช่นการเรี่ยไรเงินเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเขาต้องทำเพราะไม่มีใครทำ
คนทำงานแก้ปัญหากันเอง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ Call Center ของบริษัทแพลตฟอร์มไม่สามารถตอบคำถามหรือช่วยเหลือหน้างานเวลาเกิดอุปสรรคติดขัดอย่างที่พวกเขาต้องการได้ การสื่อสารกับบริษัทแพลตฟอร์มจึงเป็นการสื่อสารทางเดียวที่ไม่มีกลไกตอบกลับ ให้ความรู้สึกว่าเป็น ‘การสื่อสารกับกำแพง’ นี่คือเสียงสะท้อนที่ระบุไว้ในงานวิจัย
ทางเลือก – ทางออก ‘งานของอนาคต’
ผมว่าถ้าเรามองเรื่องแพลตฟอร์มในภาพรวม ไม่ได้โฟกัสเรื่องคนงานอย่างเดียว ประเด็นใหญ่ประเด็นหนึ่งคือการเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ถ้ารัฐบาลจะส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจ 4.0 ก็ควรจะสร้างโอกาสให้ใครก็ตามซึ่งไม่ใช่นายทุนขนาดใหญ่สามารถเข้าถึงได้ ปรากฏการณ์ของแกร็บ หรือคนส่งอาหาร มันทำให้เห็นแนวโน้มการผูกขาด รายเล็กๆ หรือคนทำงานมักจะถูกจำกัด ควบคุมและถูกลงโทษ แทนที่จะเป็นรายใหญ่
อย่างกรณีที่สมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทยเคยเสนอที่ให้รัฐทำแอปพลิเคชันเอง
ในเชิงหลักการมันควรจะทำเพราะเราควรจะมีสิทธิที่จะเข้าถึงความเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ที่อเมริกามีคนทำความสะอาดบ้านและพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมา พวกเขาเป็นเจ้าของเอง โดยมีเอ็นจีโอเข้าไปช่วย ชื่อ Up & Go ครับ เขาก็พยายามที่จะเสนอว่า เมื่อคนทำงานเป็นเจ้าของแอปฯ คนทำงานจะสามารถกำหนดค่าจ้างของตัวเอง สามารกำหนดวิธีการทำงาน สามารถกำหนดว่าแอปฯ มันจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนทำงานยังไง เพื่อปกป้องคนทำงาน
อันนี้เป็นตัวอย่างที่ผมคิดว่า มันทำให้เห็นว่า จริง ๆ แล้ว งานบนแพลตฟอร์ม หรือ Gig Economy มันไม่จำเป็นที่ออกมาแล้วทำให้คนทำงานเครียด หรือโอนภาระให้คนทำงาน มันสามารถที่จะเปลี่ยนได้ ผมว่าเทคโนโลยีหรือเครื่องมือ มันควรรับใช้คนทำงาน แต่มันจะเป็นอย่างนั้นได้ก็ต่อเมื่อคนทำงานสามารถเข้ามากำกับมันได้ เมื่อกี๊ถึงพูดว่า มันควรที่จะไปสู่ทิศทางที่ให้เขาเป็นเจ้าของ
องค์กรที่ทำ Up & Go เขาก็จะทำ 2 อย่างนะ หนึ่งคือตัวแอปฯ ซึ่งคนทำความสะอาดเป็นเจ้าของและบริหารเองและอีกอันชื่อ Brightly เขาจะพัฒนาเป็นแฟรนไชส์ ตอนนี้มีอยู่ที่นิวยอร์ก
กรณีของ Up & Go และ Brightly มันทำให้เห็นว่า มันมีอีกเยอะที่ต้องทำ มันต้องมีคนเข้ามาทำ Ecosystem ให้มันต้องมีส่วนสำคัญก็คือ Funding ส่วนที่เป็นเครดิต เพราะฉะนั้นคนที่จะเข้ามาเป็นเจ้าของธุรกิจต้องเข้าถึงเงินทุนขนาดใหญ่ มันจะต้องมีการสร้างองค์กรที่เข้ามาให้ทุนกับคนกลุ่มนี้ ในแบบที่เข้าใจวิถีการทำงาน ซึ่งคนที่ทำประเด็นนี้ จริง ๆแล้ว เขาทำไปถึงประเด็นเรื่อง Workplace Democracy เมื่อคนงานเข้ามาเป็นเจ้าของธุรกิจร่วมกัน คนงานก็มักจะทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืน เพราะธุรกิจมันมีความเป็นประชาธิปไตยในองค์กร ไม่ได้มีการครอบงำ ต่างจากธุรกิจแบบเก่า
ดังนั้น เขาทำหลายเรื่อง ทั้งสร้าง Ecosystem ไปจนถึงสร้างบุคลากร Developer ที่เข้ามาทำงานกับคนงาน อยากจะสร้างแอปฯ ก็ต้องมีที่ปรึกษา ต้องมีแหล่งทุนรองรับ แล้วก็ต้องมีงานอื่นๆ อย่างที่เรียกว่า Conversion ธุรกิจเก่า ตอนนี้ในอเมริกาจะมีธุรกิจของพวกเจนเนอร์เรชั่น Baby Boomer ซึ่งส่วนใหญ่กำลังจะหมดไป คนกลุ่มนี้ก็จะเข้าไปบอกว่า เออ ถ้าคุณจะขายธุรกิจ คุณก็มาทำเป็นธุรกิจแบบนี้ดีกว่า ให้คนที่ทำงานอยู่ในโรงงานของคุณ เข้ามาแชร์กันและเป็นเจ้าของธุรกิจ แทนที่คุณจะขายให้ใครคนเดียว คุณก็ขายกลับคืนไปให้คนทำงาน ดังนั้น วิธีคิดนี้มันต้องมีระบบซัพพอร์ทอีกเยอะ
และส่วนสำคัญที่สุด อย่าง Up & Go หรือ Brightly จะอยู่ไม่ได้เลย ถ้าไม่มีคนจ้างงาน ตอนนี้เขาก็ไปล็อบบี้ให้เทศบาล เวลาจะจ้างงานอย่าไปจ้างธุรกิจซึ่งเอากำไรหรือเอาเปรียบคนงาน มาจ้างแบบนี้ ผลกำไรหรือรายได้มันก็กลับไปที่ชุมชน
ไม่ใช่ SE (Social Enterprise: ธุรกิจเพื่อสังคม)
ไม่ได้คิดในกรอบของ Social Enterprise เลย เขาจะเรียกมันว่า จริงๆ มันเป็นสิ่งที่ JELI (สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม) พยายามทำนะ องค์กรที่ผมตั้งจะเริ่มทำเรื่องนี้ คิดในกรอบของ Solidarity Economy เศรษฐกิจสมานฉันท์ คือเราจะสร้างเศรษฐกิจที่คนทุกคนแชร์กันอ่ะ แต่เศรษฐกิจแบบนี้มันต้องมีการเปลี่ยนวัฒนธรรม มันต้องมีการเปลี่ยน Mindset
ความยาก – อุดมคติ และ ‘แพลตฟอร์ม + สหกรณ์’
ยากนะอาจารย์
ยาก เราก็พยายามจะทำวิจัยกับคนที่ทำเรื่องนี้ในเมืองไทย ก็ล้มหายตายจากไป มีรายนึงกำลังดิ้นรนอยู่ เป็นโรงงานที่บางบอนชื่อ Dignity Returns เขาถูกเลิกจ้าง แล้วคนงานก็มาตั้งโรงงานด้วยตัวเองเป็นโรงงานตัดเย็บเสื้อ อยู่มา 16-17 ปี เขาก็เคยได้รับความเห็นใจ มีสื่อต่างประเทศมาทำข่าว มีคนเขียนบทความ มีคนทำวิทยานิพนธ์ แต่เขาก็ไม่สามารถไปไกลกว่านี้ได้ ก็อยู่แบบลุ่ม ๆ ดอน ๆ เขาบอกว่าเขาอยู่โดยที่ได้ประโยชน์จากกฏหมายผู้รับงานไปทำที่บ้าน แต่กฏหมายนี้ก็ทำให้การแข่งขันของกลุ่มเขาที่พยายามจะสร้างฐานสมาชิกและส่งงานให้คนทำงานที่บ้านจริง ๆ ไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้ เพราะไม่มีทุน
ดังนั้นเราทำวิจัยแล้วก็คิดว่าเราพยายามที่นอกจากจะถอดบทเรียนของเขา ก็ต้องถอดบทเรียนในเรื่องกลไกด้านกฏหมายที่ต้องเปลี่ยน ทำยังไงให้ธุรกิจแบบนี้อยู่ได้ ก็ต้องไปแก้กฏหมายอีกเยอะเลยที่จะเพิ่มแต้มต่อให้กับธุรกิจแบบนี้ ไม่งั้น ธุรกิจแบบนี้ก็ตาย
ส่วนอีกแนวทางนึงที่สามารถทำได้ คือส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ที่ทำสตาร์ทอัพมาคิดนวัตกรรมให้กับคนงาน แทนที่จะคิดไปในเชิงพาณิชย์ แต่ปัญหาข้อหนึ่งเวลาพูดถึง Social Enterprise บ้านเรา คือเรามักจะยังไปไม่สุด ยังไปไม่ถึงเป้าหมายในเรื่องของการกระจายรายได้ การทำให้สังคมเป็นธรรมมากขึ้น
มันจะเป็นไปได้จริงหรือ
ในแง่ของทฤษฎีมันก็เกิดขึ้นได้ เพราะว่าตัวอย่างในต่างประเทศมันทำให้เห็นว่าเป็นไปได้ ถ้ามีโครงสร้างสนับสนุน ถูกไหม ดังนั้น งานนี้ก็อาจเป็นงานที่ใม่ใช่งานในระยะ 5 – 10 ปี เป็นงานระยะยาว พอพูดมาถึงจุดนี้ มันทำให้ผมฉุกคิดได้ว่า เราไม่สามารถพูดเรื่องแรงงานโดยไม่สามารถพูดเรื่องการเมืองได้
อย่างเวลาที่พูดเรื่อง Alternative อย่างนี้ ผมก็มักจะพูดในตัวอย่างอเมริกาที่ผมคุ้นเคยและพยายามเข้าไปมีส่วนร่วม เมื่อ 2 ปีก่อนไปงานประชุมซึ่งเป็น New Economy เป็นกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าเป็นเศรษฐกิจใหม่ กลุ่มเอ็นจีโอพวกนี้ก็พยายามจะนึกถึง Alternative ต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำให้ผมเรียนรู้เรื่อง Solidarity Economy เป็น Movement ระดับประเทศที่จะพูดเรื่องเศรษฐกิจฐานรากแบบสมานฉันท์ แบบเกิดการเท่าเทียม คนกลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มคนพวกชายขอบนั่นแหล่ะ เป็นกลุ่มผิวสี เป็นกลุ่มที่เป็นผู้อพยพเป็นหลัก ซึ่งเขาเองก็อาจไม่ได้ไปเชื่อมโยงกับการเมืองเพียงแต่ว่าการเมืองเขาก็ไม่ได้ปิดแบบบ้านเรา ที่แม้กระทั่งคนงานจะพูดเรื่องปากท้อง ก็ต้องถูกรัฐบาลนี้บอกว่า เออ คุณช่วยเบา ๆ เสียงของคุณอยู่ในพื้นที่ที่จำกัด กลับมาสู่เรื่องการเมืองแบบนี้ก็จบ
หรือเราจำเป็นต้องมีเสรีภาพมากขึ้นเพื้อที่จะส่งเสียงออกมาให้เห็นถึงปัญหา
ก็ส่วนหนึ่งนะที่ทำให้เติบโตพัฒนาเป็นกลุ่มก้อนทางเลือกเศรษฐกิจก็โยนกลับมาภาคประชาสังคมสะท้อนตัวเองในฐานะคนทำงานวิชาการ คนวงการสื่อ เราพูดเรื่องนี้แค่ไหน ก็น้อยใช่ไหม เรื่องทางเลือก ที่ไม่ใช่เศรษฐกิจที่เป็นอยู่
ตอนที่ผมทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ผมเริ่มเห็นคนจำนวนมากที่อยู่ในโรงงาน ที่อยู่ในระบบสหภาพฯ เขาไม่ได้อยู่แค่ตรงนั้น สุดท้ายเขาก็อยู่ไม่ได้ เขาถูกเลิกจ้าง เขาออกไปจากพื้นที่สหภาพฯ เขาพยายามที่จะเชื่อมกับภาคเกษตร
ผมก็รู้สึกว่าสุดท้ายแล้ว การพูดเรื่องอำนาจต่อรอง ความเป็นอยู่ของคนงาน มันจะจำกัดอยู่แค่เรื่องแรงงานสัมพันธ์ไม่ได้แล้ว เราต้องมองให้กว้างกว่านั้น ผมก็เลยเริ่มมองหาความ Alternative ตอนนั้นแหล่ะที่ทำให้เริ่มเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มในอเมริกา แล้วก็มองว่า เออ เฮ้ย ถ้าเรามองแบบยาวๆ เลยในกรอบของ Alternative
Solidarity Economy จะเป็นความยั่งยืนในระยะยาวของคนงานเพราะเราจะไม่ยึดติดกับงาน ยึดติดกับกรอบของกฏหมายเรื่องแรงงานสัมพันธ์ แต่พูดถึงการสร้างเศรษฐกิจที่ทำให้เขาอยู่ได้จริงๆ ก็เลยสนใจประเด็นนี้ แต่ก็ถูกแหล่ะว่าเป็นเรื่องที่มองไปข้างหน้ามาก
ฟังดูอุดมคติมากอยู่เหมือนกัน
ถ้ามาสู่ประเด็นว่านี่อุดมคติหรือเปล่า จริงๆ แล้ว ILO (องค์การแรงงานระหว่างประเทศ) ก็พยายามทำเรื่องนี้ UN (สหประชาชาติ) ก็หันมาพูดเรื่องนี้เยอะขึ้น เพียงแต่ว่าการตีความคำว่า Social and Solidarity Economy เนี่ย มันสามารถตีความได้หลายแบบ จะตีความแบบพูดง่าย ๆ ว่าเป็นอุดมคติหรือเป็น Socialist หรือเป็น Communitarian Version ก็เป็นได้ แต่จะมองว่าเป็นแบบ Liberal ก็พอทำได้
อย่างเช่นเรื่องระบบสหกรณ์ จริง ๆ รากฐานของระบบสหกรณ์มาจากความคิดเดียวกัน ดังนั้น เรื่องสหกรณ์ ตอนหลัง ๆ ILO หรือ UN ก็พูดถึงเรื่องนี้เยอะขึ้นและบอกว่าเป็นทางออกของระบบเศรษฐกิจที่จะให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น จริงๆ ระบบสหกรณ์เป็นระบบซึ่งเป็นพื้นฐานที่สุดแล้ว เราทำมานานแล้วไง เพียงแต่ว่าระบบสหกรณ์ในบ้านเรา มันถูกทำให้เสียหายโดยภาครัฐ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สุดท้ายจะบอกว่ามันเป็นเรื่องที่แบบอุดมคติมากไหม จริง ๆ ไม่ใช่นะ มันเป็นเรื่องที่กลับมาสู่เบสิกที่สุดที่เราเคยพูดกันมานานแล้ว เรื่องของการแชร์ Governance ในระดับรากหญ้า การแชร์การบริหารจัดการ การแชร์ผลประโยชน์ แต่ว่าเราไม่เคยทำในเชิงของวิชาการหรือของเนื้อหาสาระจริงๆว่าการบริหารจัดการในแนวระนาบ ในโรงงาน หรือในแนวชุมชนต้องเป็นยังไง
เราพยายามทำเรื่องนี้ ต้องค่อย ๆ ก้าว ตอนนี้ เราทำวิจัยกับโรงงานที่บางบอนก็มีอุปสรรคเยอะ ตัวโรงงานเองจะอยู่ได้หรือเปล่า มันมีตัวอย่างเยอะซึ่งล้มหายตายจากไป ตัวอย่างหนึ่งที่คนรู้จักคือโรงงาน Try Arm ของพี่หนิง (จิตรา คชเดช) ก็เกิดจากความคิดแบบนี้เหมือนกัน คนงานตั้งสหภาพ ถูกเลิกจ้าง เอาทักษะความรู้ที่มี มาบริหารจัดการตัวเองก็ไม่ได้รับการส่งเสริมเพราะว่าเขาไม่มีทุน
เราเริ่มทำวิจัยเรื่องนี้ เราก็มองเห็นว่าสุดท้ายมันกลับไปสู่คำถามที่ว่า เอ๊ะ ทักษะฝีมือของคนงานที่มีอยู่ทำไมไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในเรื่องของตลาด สุดท้ายเราพัฒนาโดยเอาคนงานมาอยู่ในโรงงานแบบ Labor Intensive ที่คนงานถูกทำเป็นชิ้น ๆ ไม่มีทักษะฝีมือในการตัดเย็บเสื้อผ้า 1 ตัวด้วยตัวเองได้ ก็กลับไปสู่เรื่องวิถีการพัฒนาเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ก็ต้องแก้เรื่องนี้ไปพร้อมๆ กัน ถ้าไม่แก้ก็ไปสู่เป้าหมายไม่ได้ เพราะว่าเราไม่ได้สร้างเศรษฐกิจแบบนั้นมาตั้งแต่ต้น
ตอนไปประชุมที่ได้รู้จัก Up & Go หรือหลาย ๆ กลุ่มที่มาจากทั่วโลก มีประเด็นนึงที่เขาทำอยู่ก็คือพวก Platform Cooperative คือการเอาแนวคิดเรื่องแพลตฟอร์มกับสหกรณ์มาเชื่อมกัน และหลายองค์กรเริ่มทดลองทำแล้วโดยสร้างแพลตฟอร์มซึ่งเป็นระบบสหกรณ์ เพราะว่าแนวคิดนี้เป็นแนวคิดมุมกลับซึ่งสะท้อนจากการเกิดขึ้นของอูเบอร์หรือหลายๆ แพลตฟอร์ม เป็นความคิดที่ว่า เฮ้ย เราต้องเปลี่ยนแพลตฟอร์มให้คนจำนวนมากได้เป็นเจ้าของ อันนี้เป็นแนวคิดนึงซึ่งเรามีแผนที่จะทดลองทำเหมือนกันในอนาคต
พอไปเรียนรู้แล้ว เราก็เห็นตัวอย่างว่ามันมีวิธีการทำงานยังไง ที่อินเดียเริ่มทำแล้ว มีองค์กรหนึ่งซึ่งเขาเสนอผลงาน เขาเริ่มจากการทำงานจัดตั้งผู้หญิงในชุมชนชนบท เป็น Micro Credit กลุ่มเล็ก ๆ แล้วเขาก็เริ่มเอาเทคโนโลยีง่ายๆ เช่น WhatsApp มาใช้สื่อสารกัน ไม่เชิงเป็นแพลตฟอร์มดิจิตัล 100 % คือเป็นแพลตฟอร์มที่คนใช้กันอยู่ ผมคิดว่าเราเรียนรู้จากกลุ่มในอินเดีย แล้วเรารู้สึกว่าจริงๆ มันไม่ได้ไกลตัว เขาอยู่ Ahmedabad เราอยากไปดูงานกับเขานะ องค์กรนี้เป็นองค์กรใหญ่มากชื่อ SEWA ตอนเริ่มต้น ตั้งแบบ Union จริงๆ ทำงานในระดับรากหญ้ามาก พอเราไปเห็นเขาพยายามทำเรื่อง Platform Co-op ขนาดอินเดียก็เริ่มทำได้ และเข้มแข็ง เราก็เลยรู้สึกว่าไม่ใช่แค่ตะวันตกอย่างเดียวที่มีตัวอย่าง ถ้าอินเดียมี เราก็อยากทดลองดู
อย่างที่อาจารย์บอกมันขึ้นอยู่กับทุน
ใช่ เรื่องทุนด้วย ตัวอย่างของอเมริกา มีการสร้างองค์กรชื่อ The Working World ทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงินที่มาสนับสนุนคนที่ทำเศรษฐกิจแบบนี้ ดังนั้นเขาก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดของการให้ทุน วิธีคิดของ The Working World บอกว่าเขาจะให้เครดิตหรือให้กู้ยืมกับธุรกิจซึ่งไม่ใช่ธุรกิจแบบ Extractive คือไม่ใช่ธุรกิจที่เข้าไปแล้วดูดหรือขูดรีดคน-ทรัพยากร
ขูดรีด คือ โมเดลของธนาคารปกติ มันเป็นแบบที่เขาเรียกว่า Extractive คือให้เงินเพื่อที่จะให้คนเข้าไปจัดการแล้วก็ดูดทรัพยากรออกมา สุดท้ายก็หนีไปอยู่ที่อื่น
มันต้องเปลี่ยนวิธีคิดเยอะ ผมก็คิดไม่ออกนะว่าคนในภาคการเงิน คนในภาคสินเชื่อบ้านเราจะทำยังไงถึงจะได้มีมุมมองกันแบบนี้ มันจะต้องมีการสร้างกันตั้งแต่ในบ้าน-ในโรงเรียน
อ้างอิง : งานวิจัย ‘รูปแบบงานใหมของคนขี่มอเตอรไซต์ส่งอาหารที่กำกับโดยแพลตฟอร์ม’ โดย ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร และวรดุลย์ ตุลารักษ์