‘สิทธิแรงงาน’ จุดบอดในโอกาสใหม่ของ ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’

มติชน

โดย วจนา วรรลยางกูร

ข่าวการล่อซื้อแกร็บคาร์-อูเบอร์ เกิดขึ้นเกือบตลอดทั้งปีที่ผ่านมา รวมถึงการปะทะระหว่างวินมอเตอร์ไซค์เดิมกับแกร็บไบค์ที่ให้บริการทับพื้นที่กัน

เป็นหนึ่งจากผลของการรุกคืบที่รวดเร็วของเทคโนโลยีแล้วสังคมรับมือความเปลี่ยนแปลงไม่ทัน

ระบบเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม (Platform Economy) หรือระบบเศรษฐกิจแบบดิจิทัล เป็นเรื่องที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัว โดยเฉพาะในยุโรปที่มีการติดตามปัญหานี้อย่างใกล้ชิด เพราะเกิดผลกระทบกับโครงสร้างเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน ซึ่งปัญหาน่าจะรุนแรงขึ้นอีกเมื่อระบบนี้ขยายตัวขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าแล้วไม่มีการเตรียมพร้อมตั้งรับ

ด้านไทยประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 สนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแข็งขัน แต่ที่น่าคิดคือมีการปรับตัวในโครงสร้างรัฐให้พร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงนี้มากเพียงไร

โดยเฉพาะผลกระทบด้านแรงงาน ทั้งเรื่อง ค่าตอบแทน เวลาทำงานที่เหมาะสม ความมั่นคง โอกาสที่เท่าเทียม หลักประกันทางสังคม ความปลอดภัย อำนาจในการต่อรอง

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยสถาบันเศรษฐกิจและแรงงานที่เป็นธรรม ได้ศึกษาเรื่อง “เศรษฐกิจแพลตฟอร์มและผลกระทบต่อแรงงานภาคบริการในประเทศไทย” ร่วมกับ เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร ในการสนับสนุนของ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท

และได้นำเสนอในงานสัมมนา “เศรษฐกิจดิจิทัลกับแรงงาน 4.0: วิกฤตเก่าหรือโอกาสใหม่?” ร่วมจัดโดยมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

อรรคณัฐอธิบายคำจำกัดความของ “Platform Economy” ว่าเป็นช่องทางใช้จับคู่ผู้ที่ต้องการเสนอสินค้าและบริการ กับผู้ที่ต้องการสินค้าและบริการ

นอกจากการขนส่งและที่พักอาศัยแล้ว เริ่มขยายไปธุรกิจอื่น โดยเจ้าของแพลตฟอร์มหักค่าดำเนินการในรูปของค่าคอมมิสชั่น

การทำงานที่ต้องอาศัยแพลตฟอร์ม แอพพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์มาเกี่ยวข้อง จะนิยามว่าเป็น “แรงงานดิจิทัล” เช่นคนขับแท็กซี่ที่ทำงานผ่านแพลตฟอร์ม

อรรคณัฐเผยว่าจากการสำรวจงานวิจัยในต่างประเทศเรื่องเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ความสนใจจะมีตั้งแต่เรื่องการเลือกปฏิบัติต่อแรงงาน ค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม ปัญหาในมิติแรงงานจำนวนมาก เช่นคำถามว่า “คนขับอูเบอร์ถือเป็นลูกจ้างของอูเบอร์หรือเป็นแรงงานอิสระ?”

แต่ในไทยความสนใจจะเป็นเรื่องข้อขัดแย้งทางกฎหมายที่ใช้กำกับดูแลเป็นหลัก ซึ่งไม่ไช่กฎหมายแรงงาน เช่นเรื่องแอร์บีเอ็นบี คอนโดที่เช่ารายเดือนเอามาให้เช่ารายวันจะผิดกฎหมายไหม?

แม้ความสนใจเรื่องเศรษฐกิจแพลตฟอร์มของคนไทยยังไม่ได้มองไปถึงมิติความเป็นธรรมของคนทำงาน แต่ใช่ว่าเรื่องนี้จะไม่มีผลกระทบ จึงเป็นสิ่งที่น่าใส่ใจมากขึ้น

เขาได้ศึกษาแพลตฟอร์ม 3 รูปแบบ ในบริบทสังคมไทย 1.อูเบอร์-การขนส่ง 2.แอร์บีเอ็นบี-บริการที่พักอาศัย 3.บีนีท-บริการทำความสะอาด

เพิ่มโอกาสทำงาน-คนใช้แฮปปี้

อรรคณัฐศึกษาแพลตฟอร์ม อูเบอร์ ในเชียงใหม่ โดยสัมภาษณ์คนขับ 48 ราย ซึ่งขณะนี้อูเบอร์ได้ควบรวมกิจการเข้ากับ “แกร็บ” แล้ว

ข้อถกเถียงเรื่องอูเบอร์จะมีมุมมองที่ต่างกันเช่น ผู้ใช้บริการจะรู้สึกมีความสุข เพราะแพลตฟอร์มตอบสนองสิ่งที่การขนส่งแบบเดิมให้ไม่ได้ เช่นเรียกแท็กซี่แล้วไม่ยอมไปหรือไม่กดมิเตอร์ และในเชียงใหม่การเรียกขนส่งสาธารณะลำบากมาก โดยเฉพาะเส้นทางที่รถไม่ผ่าน

“ฝั่งคนขับ เกือบทั้งหมดบอกว่าดี เพิ่มโอกาสหารายได้ มีสภาพยืดหยุ่นในการทำงาน กำหนดเวลางานเองได้ เพราะบางคนไม่สามารถเป็นลูกจ้างปกติได้ แต่คุยไปลึกๆ เขาเล่าให้ฟังว่าบางครั้งรู้สึกถูกเอาเปรียบจากแพลตฟอร์ม

“คนควบคุมกติกาคือรัฐ พอมีข้อขัดแย้ง การแก้ปัญหาก็จะยึดกฎหมายเป็นหลัก แต่กฎหมายเก่าไม่ทันบริบท ภาครัฐจะมองว่าบริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มไม่ผิดกฎหมาย เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติ แต่คนขับทำผิดกฎหมาย เพราะรถสาธารณะต้องจดทะเบียน ต้องมีใบขับขี่สาธารณะ”

เขาเล่าว่าจากการพูดคุย บางคนสภาพร่างกายไม่พร้อมเช่นอายุเยอะหรือเคยเป็นอัมพฤกษ์ แม้เกือบหายแล้วแต่เป็นลูกจ้างปกติไม่ได้ ก็มาขับอูเบอร์ที่ใช้เพียงใบขับขี่ บางคนขับเป็นอาชีพเสริม ต่อมาลาออกมาทำเต็มเวลา

การคำนวณโดยระบบ สภาพควบคุมที่มองไม่เห็น

“เจ้าของแพลตฟอร์มพยายามสร้างสภาพควบคุมเหนือคนขับ จูงใจให้เข้าไปจุดที่ต้องการใช้บริการรถเยอะๆ ด้วยค่าตอบแทนแบบจูงใจ เช่น ได้ค่าโดยสารมากกว่าปกติ 1.4 เท่า แม้ผู้โดยสารรู้สึกว่าแพลตฟอร์มมาช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเรียกรถแท็กซี่ แต่ก็ลืมว่าค่าโดยสารถูกกำหนดโดยแอพพ์ ฝนตกรถติดค่าโดยสารก็เพิ่มขึ้น เป็นสภาพจำยอมที่ผู้ใช้ไม่มีโอกาสต่อรอง ขณะที่แท็กซี่แบบเดิมค่าโดยสารกำหนดโดยรัฐ

“ตอนหลังพอเป็นที่นิยมมากขึ้น ค่าตอบแทนแบบจูงใจในฝั่งคนขับน้อยลง จนแทบไม่มีแล้ว ค่าโดยสารก็เพิ่มมากขึ้น เท่ากับทั้งผู้โดยสารและคนขับ ไม่มีความสามารถในการควบคุมอะไรเลย แต่ถูกควบคุมโดยเจ้าของแพลตฟอร์ม”

อรรคณัฐเล่ากรณีน่าสนใจที่พบเป็นคนขับอูเบอร์แม่เลี้ยงเดี่ยวมีลูกสาวนั่งมาด้วย ขอร้องว่าอย่ารายงานอูเบอร์ที่ห้ามไม่ให้มีบุคคลอื่นโดยสารด้วย สักพักก็จอดป้อนยาลูก เพราะเป็นไข้ไม่สบาย ครูเรียกแม่มารับกลับบ้าน แต่วันนั้นเป็นวันสุดท้ายของค่าตอบแทนแบบจูงใจ คุณแม่ขับมาทั้งสัปดาห์เพื่อสะสมเที่ยวให้ได้ค่าตอบแทนพิเศษ ถ้าวันนั้นไม่ขับ สิ่งที่พยายามมาทั้งสัปดาห์ก็สูญเปล่า

“มุมที่มองไม่เห็นคือแพลตฟอร์มสร้างสภาพควบคุมเหนือคนขับ เช่น ผู้ขับไม่แน่ใจว่าหากกดปฏิเสธผู้โดยสารจะมีผลอะไรไหม คราวหน้าระบบจะเลือกให้คนอื่นรับผู้โดยสารแทนไหม บางคนขับรถติดต่อกัน 7-8 ชั่วโมงไม่ได้พัก ไม่ได้ทานอาหาร แพลตฟอร์มจะบอกว่าปฏิเสธได้ แต่คนทำงานไม่เข้าใจ เพราะแพลตฟอร์มไม่เคยบอกว่าการจับคู่ผู้โดยสารคำนวณจากอะไร”

ส่วนเรื่องค่าโดยสาร เมื่อหักค่าใช้จ่าย ค่าน้ำมัน ค่าสึกหรอ คนขับบอกว่าช่วงแรกเพียงพอเพราะมีค่าตอบแทนแบบจูงใจ แต่ตอนหลังรายได้น้อยลงมาก เมื่อมีคนมาขับมากขึ้น บริษัทประกันก็มีปัญหาเมื่อนำรถส่วนบุคคลไปใช้แบบรถสาธารณะ ความเสี่ยงจะแตกต่างกัน

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคืออำนาจในการต่อรองที่หายไปของคนขับจากการควบรวมกิจการของอูเบอร์กับแกร็บ จากเดิมที่บางคนใช้ทั้งสองแอพพ์ก็ทำให้ไม่มีทางเลือกแล้ว

แพลตฟอร์มให้ค่าตอบแทนจูงใจคนขับให้ไปรับผู้โดยสารในพื้นที่ที่ต้องการใช้บริการสูง โดยเสนอค่าโดยสารสูงกว่าปกติ (ภาพจากรายงาน)
แพลตฟอร์มให้ค่าตอบแทนจูงใจคนขับให้ไปรับผู้โดยสารในพื้นที่ที่ต้องการใช้บริการสูง โดยเสนอค่าโดยสารสูงกว่าปกติ (ภาพจากรายงาน)

‘แอร์บีเอ็นบี’ ผลดีที่มาพร้อมความเสี่ยง

แพลตฟอร์มที่ 2 แอร์บีเอ็นบี คือการเอาห้องหรือบ้านมาให้บริการ โดยมีส่วนแบ่งรายได้ค่าบริการที่หักจากเจ้าของห้องพัก 3% และจากผู้เข้าพัก 5-15%

ในไทยจะมีปัญหาเรื่องกฎหมายเป็นส่วนมาก ซึ่งมีกฎหมายกำกับกิจการที่พักและโรงแรมหลายฉบับ การนำที่พักประเภทต่างๆ มาให้เช่ารายวันโดยไม่จดทะเบียน จึงเป็นการทำผิดกฎหมาย

แอร์บีเอ็นบีสร้างผลบวกต่อตลาดแรงงาน สร้างโอกาสหารายได้จากทรัพยากรที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของผู้เสนอที่พักให้เช่า และสร้างโอกาสใหม่ในการจ้างงาน เช่น งานทำความสะอาด ซักรีด รับจ้างประสานงานผู้เข้าพักแทนเจ้าของที่พัก

แต่ผู้วิจัยพบว่าแพลตฟอร์มพยายามสร้างสภาพควบคุมเหนือผู้ให้เช่าและผู้เช่า

  1. สร้างสภาพควบคุมผ่านอัลกอริทึม ด้วยระบบการให้คะแนนและความคิดเห็น ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ และตำแหน่งการแสดงผลในหน้าการค้นหา ทำให้มีโอกาสได้รับการจองมากขึ้น
  2. สร้างสภาพบังคับและการทำโทษ กรณียกเลิกการจองและตอบสนองต่ำกว่ามาตรฐาน หากเจ้าของที่พักยกเลิกการจองต้องเสียค่าปรับให้แอร์บีเอ็นบี โดยค่าปรับไม่ได้นำไปชดเชยให้ผู้จอง แต่หากแสดงหลักฐานว่ามีเหตุจำเป็น ก็อาจยกเลิกมาตรการลงโทษได้
  3. การผลักภาระและความเสี่ยงให้เจ้าของที่พักและผู้เข้าพัก หากที่พักมีพื้นที่ส่วนกลางเช่นในคอนโดแล้วมีความเสียหาย จะไม่ได้รับการชดเชยใดๆ รวมถึงการแบ่งห้องในบ้านให้เช่า การรับผิดชอบจะไม่ครอบคลุมส่วนอื่น เช่น ห้องครัว ห้องรับแขก แม้ว่าจะเปิดโอกาสให้เจ้าของที่พักเรียกเก็บเงินประกันความเสียหายจากผู้เข้าพักได้ แต่ก็มีผลต่อการตัดสินใจเข้าพัก

เวลางานยืดหยุ่น กับภาระที่แบกรับ

แพลตฟอร์มที่ 3 บีนีท ตัวกลางจับคู่แม่บ้านกับคนต้องการลูกจ้างทำงานบ้าน อรรคณัฐมองว่ามีประโยชน์ที่ลูกจ้างสามารถกำหนดเวลาทำงานเองได้ แพลตฟอร์มช่วยเรื่องการประกันความเสียหายแก่ผู้ใช้บริการและมีอบรมทักษะการทำงานให้แม่บ้านด้วย

“ผู้ให้ข้อมูลบางคน เดิมเป็นแม่บ้านแล้วมีเหตุจำเป็นที่ทำงานประจำไม่ได้จึงย้ายตัวเองมาอยู่บนแพลตฟอร์ม ค่าตอบแทนเป็นรายชั่วโมง โดยแพลตฟอร์มหักค่าดำเนินการส่วนหนึ่ง แต่มีข้อกังวลว่า น้ำยาอุปกรณ์ทำความสะอาดเป็นภาระที่แม่บ้านต้องจัดหามาเอง ค่าใช้จ่ายการเดินทางและเวลาใช้เดินทาง แม่บ้านก็ต้องรับผิดชอบเอง

“แม้การทำงานยืดหยุ่น เลือกเวลาทำงานเองได้ แต่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายหลายอย่างเอง โดยมากรับได้ราว 2 งานต่อวัน เดินทางจากที่หนึ่งไปที่หนึ่งใช้เวลามาก ค่าใช้จ่ายสูง หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว ค่าจ้างจึงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำไม่มาก เมื่อเทียบกับการเป็นลูกจ้างทำงานบ้านแบบเดิมซึ่งเป็นที่ต้องการมากและรายได้สูงกว่า” อรรคณัฐกล่าว

หวังกลไกคุ้มครอง ‘แรงงานดิจิทัล’

อรรคณัฐมองว่าการรวมกลุ่มต่อรองของคนทำงานในทั้งสามแพลตฟอร์มยังมีน้อยมาก และคนทำงานรู้สึกว่า ถ้าต่อรองหรือวิพากษ์วิจารณ์จะถูกนำออกจากแพลตฟอร์ม การรวมกลุ่มจึงทำเพื่อปรับทุกข์กัน

“แน่นอนว่าแพลตฟอร์มมีประโยชน์มากมาย เกิดโอกาสจ้างงานใหม่ มีอาชีพอื่นเกิดขึ้นต่อเนื่องจากการเข้ามาของแพลตฟอร์ม ขณะเดียวกัน การกำกับดูแลของภาครัฐที่ใช้กฎหมายอย่างเดียวแล้วไม่ทันสมัยนั้น เอื้อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม อย่างกรณีขนส่งสาธารณะ ที่แท็กซี่แบบเดิมต้องปฏิบัติตามกฎ ทั้งเรื่องค่าโดยสาร รถ เครื่องแต่งกาย แต่คู่แข่งในแพลตฟอร์มไม่ต้องปฏิบัติตามกฎนั้น ส่วนกรณีที่พักก็จะกระทบธุรกิจโรงแรม ส่งผลต่อแรงงานต่อเนื่องไป

“โดยรวมมีการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ขาดการบริหารจัดการกำกับดูแลที่เหมาะสมของภาครัฐ ในอนาคตอาจเกิดปัญหาใหญ่ตามมา อีกทั้งแพลตฟอร์มพยายามผลักภาระความเสี่ยงทั้งหมดไปให้ผู้ให้บริการและผู้รับบริการ” อรรคณัฐกล่าว

ด้าน อนันต์ บวรเนาวรักษ์ ผู้ตรวจราชการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่มาร่วมฟังเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ที่น่าเรียนรู้ และเห็นด้วยที่บอกว่าภาครัฐยังไม่ปรับตัวเปลี่ยนแปลง เพราะภาครัฐมีโครงสร้างใหญ่การปรับตัวแต่ละครั้งต้องมีความแน่นอนมั่นคงในหลักการและนโยบาย แต่อย่างไรต้องมีความพยายามปรับตัว

“การทำงานผ่านแพลตฟอร์ม ในมิติกรมการจัดหางานอาจมองเป็นเรื่องดีที่มีการสร้างงานลูกจ้าง แต่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานอาจมองว่าการคุ้มครองแรงงานไม่ได้ทำง่ายๆ เมื่อเป็นการควบคุมโดยระบบคอมพิวเตอร์ ที่ไม่สนใจว่าคนปฏิเสธงานเพราะมีลูกอ่อนหรือแม่ป่วย จึงเป็นเรื่องลำบาก ขณะที่ภาครัฐขยับตัวช้า ออกกฎหมายมาเขาก็ขยับไปทางอื่นแล้ว” อนันต์กล่าว

เป็นจุดเริ่มต้นที่ภาครัฐน่าจะทบทวนกลไกและมาตรการคุ้มครองคนทำงาน จนถึงการกำกับธุรกิจแพลตฟอร์มให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมกับคนทำงานในระบบเดิม