การจัดตั้งอย่างลึกซึ้งคือหนทางไปต่อ : Deep Organising is the Path Forward

เผยแพร่ใน/Published in Asian Labour Review

โดย/By Kriangsak Teerakowitkajorn

“change requires deep organising” (Painting: Circles in a Circle, Vasily Kandinsky, 1923)

หลายประเทศในเอเชีย งานประเภท “กิ๊ก” หรือ Gig Work มักถูกทำให้มีความเป็นปักเจกสูง และการบริหารจัดการโดยอัลกอริทึมก็ทำให้กระบวนการแรงงานเกิดความแตกแยก ลดทอนพลังเชิงโครงสร้างของคนงานลง คนส่งของและไรเดอร์มักต้องทำงานหลายต่อหลายชั่วโมงด้วยความยากลำบาก ซึ่งผลักให้พวกเขาต้องหันมาให้ความสำคัญกับการปฏิรูปกฎหมายเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองที่ดีขึ้น การนัดหยุดงานในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะในประเทศไทย สิงคโปร์ และฮ่องกง ระหว่างการระบาดของโควิด-19 ในปี 2019-2020 ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการร่วมกันต่อสู้ของไรเดอร์*

อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพที่ยากลำบากของงานกิ๊ก รวมไปถึงความโดดเดี่ยวและความเสี่ยงทางสุขภาพต่างๆ ทำให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างความจำเป็นต้องสร้างรากฐานองค์กรและความเร่งด่วนเฉพาะหน้าในการเอาตัวรอดในแต่ละวัน เศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่มีการแข่งขันสูงยังคงจำกัดอำนาจของแรงงานในตลาด ทำให้ยากต่อการสรรหาและรักษาไรเดอร์เอาไว้ เนื่องจากพวกเขาต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา

ผู้นำไรเดอร์ที่มีประสบการณ์เริ่มรับรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องใช้การจัดตั้งอย่างลึกซึ้งมากกว่าการพึ่งพาการช่วยเหลือกันเองหรือแคมเปญสร้างความตระหนักรู้เพียงอย่างเดียว ถึงการประท้วงและแคมเปญจะช่วยสร้างการรับรู้แต่กลับไม่ค่อยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน กลุ่มต่างๆ ที่ได้มีการจัดตั้งกำลังปรับเปลี่ยนไปสู่การสร้างพลังขององค์กรผ่านการรวมกลุ่มและแบ่งปันประสบการณ์ ซึ่งจะทำให้เกิดขบวนการที่นำโดยคนงานที่เน้นการพัฒนาศักยภาพภายในเพื่อการต่อสู้ในระยะยาว

การควบคุมเชิงองค์กรและระบบสนับสนุนที่ไม่เพียงพอ

ในเอเชีย สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมมักจะครองขบวนการแรงงาน แต่กลับไม่สามารถเชื่อมโยงกับความต้องการของคนงานแพลตฟอร์มได้ โครงสร้างที่ครอบงำโดยเพศชายและวิธีการจัดตั้งแบบเดิมทำให้การแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มโดยเฉพาะเป็นเรื่องยาก เช่น ปัญหาอาชีวอนามัยในการทำงานที่ต่างไปจากรูปแบบเดิม และปัญหาความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ

ในประเทศที่สิทธิในการรวมกลุ่มยังไม่ได้มีการรับประกันอย่างชัดเจน กลยุทธ์การจัดตั้งที่ใช้กันทั่วไปคือการกระตุ้นให้คนส่งของและไรเดอร์จดทะเบียนเป็นองค์กรแรงงานที่ไม่เป็นทางการ เช่น สมาคม ถึงแม้ว่าแนวทางนี้จะช่วยให้คนงานสามารถสร้างโครงสร้างองค์กรได้ แต่มักจะเป็นการจำลองรูปแบบการจัดตั้งที่ตื้นเขินซึ่งมุ่งเน้นไปที่การมีเอกสารการลงทะเบียนเพียงอย่างเดียว

เมื่อองค์กร NGOs เข้ามาส่งเสริมการจัดตั้ง นักจัดตั้งซึ่งมักจะเป็นคนหนุ่มสาวและมีความเกี่ยวข้องกับองค์กรเหล่านี้ จะต้องสร้างความไว้วางใจภายในกลุ่มคนงานใหม่ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและการปรับตัว เนื่องจากการหมุนเวียนของพนักงานสูง ความพยายามในการสร้างความไว้วางใจนี้จึงต้องถูกสร้างใหม่อย่างต่อเนื่องในสภาพแวดล้อมที่ขาดแคลนทรัพยากรและมีการเปลี่ยนแปลงพนักงานอย่างรวดเร็ว

ระบบสนับสนุนสำหรับคนงานเหล่านี้ยังมีไม่เพียงพอ งานวิจัยเกี่ยวกับงานกิ๊กมักจะมุ่งเน้นไปที่สภาพการทำงาน และมักมองข้ามแนวทางการจัดตั้งและพลวัตรภายในที่จำเป็นสำหรับการเคลื่อนไหวแรงงานที่ยั่งยืน รัฐบาลมักจะละเลยคนงานแพลตฟอร์มที่มีการจัดตั้งเมื่อพิจารณานโยบายที่เกี่ยวข้อง ผลลัพธ์ที่ได้คือกลุ่มที่มีการจัดตั้งพบว่าตนเองได้รับเพียงการสนับสนุนทางวิชาการที่จำกัดและความไม่ใส่ใจจากรัฐบาล

ความท้าทายในการต่อกรกับแพลตฟอร์ม

แม้ว่าการตระหนักรู้ของสาธารณชนต่อปัญหาของไรเดอร์จะเพิ่มมากขึ้น แต่บริษัทแพลตฟอร์มยังคงปฏิเสธความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างกับไรเดอร์เพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบทางกฎหมายและทางสังคม การขาดเอกภาพและอำนาจทางสถาบันของไรเดอร์ทำให้การมีส่วนร่วมโดยตรงกับบริษัทเหล่านี้ยิ่งยากขึ้น แม้ในประเทศที่มีอำนาจทางสถาบันค่อนข้างสูง อย่างเช่น อินโดนีเซียและเกาหลีใต้ บริษัทแพลตฟอร์มยังคงต่อต้านการยอมรับองค์กรของไรเดอร์เป็นคู่เจรจาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งบีบให้ไรเดอร์ต้องพึ่งพาช่องทางรัฐบาลแทน

เพื่อเป็นการตอบโต้ กลุ่มที่มีการจัดตั้งเริ่มทำงานร่วมกับผู้กำหนดนโยบายเพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลง แต่ความก้าวหน้าในทางกฎหมายยังคงมีจำกัด และมักจะถูกแทนที่ด้วยความเคลื่อนไหวแบบเผชิญหน้ามากกว่า การมีส่วนร่วมเชิงสัญลักษณ์เหล่านี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดตั้งองค์กรที่มีพลัง ความสามัคคี และสมาชิกที่มีความมุ่งมั่น

เพื่อเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ ไรเดอร์ต้องมีรากฐานองค์กรที่แข็งแกร่งพอจะบีบให้ทั้งบริษัทแพลตฟอร์มและรัฐบาลต้องมาร่วมเจรจา การจัดตั้งต้องก้าวข้ามความต้องการส่วนบุคคลเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรองร่วม ซึ่งจำเป็นต่อการป้องกันการควบคุมด้วยอัลกอริทึม

ข้อจำกัดในการผลักดันนโยบาย

มุมมองกระแสหลักที่มักได้รับส่งเสริมโดยกลุ่มนักคิดและสื่อ มักจะให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย เช่น ร่างกฎหมายแรงงานแพลตฟอร์มของสิงคโปร์เมื่อไม่นานมานี้ ที่ถึงแม้จะเป็นความก้าวหน้า แต่มักมาจากการริเริ่มของรัฐบาลส่วนกลุ่มที่มีการจัดตั้งกลับมีส่วนร่วมเพียงเล็กน้อย ทำให้คนงานอยู่ในบทบาทเชิงรับมากกว่าเชิงรุก นอกจากนี้ นโยบายที่รัฐบาลเสนอยังมีการคุ้มครองที่ขัดแย้งกันอยู่และไม่ครบถ้วน เช่น ร่างกฎหมายของสิงคโปร์ที่ยังอยู่ระหว่างการประเมิมผลกระทบที่แท้จริงสำหรับไรเดอร์ หรือความคุ้มครองประกันสังคมสำหรับคนงานกิ๊กในมาเลเซียที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่กว้างกว่าของคนงานเหล่านี้ได้ แนวทางของรัฐบาลที่มีลักษณะเชิงระบบราชการและการแยกส่วนของผู้กำหนดนโยบายทำให้ขอบเขตของการปฏิรูปอย่างครอบคลุมถูกจำกัด หากปราศจากพลังขององค์กรที่แข็งแรง กลุ่มที่มีการจัดตั้งมักเลือกแก้ปัญหาที่ง่ายและเข้าถึงได้ก่อน แทนที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

ถึงแม้ว่าการเคลื่อนไหวที่เน้นการผลักดันทางนโยบายและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียจะมีความสำคัญ แต่บางครั้งก็ไม่สามารถทดแทนการจัดตั้งอย่างลึกซึ้งที่จำเป็นสำหรับการสร้างพลังที่ยั่งยืนได้ ซึ่งแนวโน้มนี้พบได้ทั่วทั้งภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นในประเทศที่มีอัตราการรวมกลุ่มแรงงานต่ำมาโดยตลอด เช่น ประเทศไทยและกัมพูชา ซึ่งไรเดอร์ยังคงไม่มั่นใจในองค์กรแรงงานที่เป็นทางการ หรือในประเทศที่มีสหภาพแรงงานที่แข็งแกร่งกว่า เช่น อินโดนีเซียและไต้หวัน

การจัดตั้งอย่างลึกซึ้งคือหนทางไปต่อ

การเคลื่อนไหวร่วมกันของไรเดอร์ได้พัฒนาไปมาก แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นในปัญหาเชิงระบบและความพร้อมที่จะจัดตั้งเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีความหมาย อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดทางองค์กร ความกังขาต่อแนวคิดการรวมกลุ่ม และกฎหมายที่จำกัด ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งอย่างยั่งยืน แม้กระทั่งในบางประเทศที่สิทธิในการรวมกลุ่มได้รับการคุ้มครอง เช่น ไต้หวัน นักจัดตั้งยังคงเผชิญกับปัญหาในการหาสมาชิกที่กระตือรือร้นและเข้มแข็ง หากไม่มีรากฐานที่เข็มแข็ง ความก้าวหน้าก็ยังคงถูกจำกัดต่อไป

เมื่อมองไปข้างหน้า เป้าหมายของเราจะต้องชัดเจนและมีกลยุทธ์ แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายและนโยบายจะเป็นสิ่งจำเป็น แต่เป้าหมายหลักของเราคือการเสริมพลังให้กับคนงานและสร้างขบวนการแรงงานข้ามชาติที่แข็งแกร่งและขับเคลื่อนโดยคนงาน การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนต้องการการมีส่วนร่วมของ “คนงานในทุกมิติ” เชื่อมโยงชีวิตของคนงาน ชุมชน และขบวนการทางสังคมเข้าด้วยกัน องค์ประกอบสำคัญของการจัดตั้งอย่างลึกซึ้งคือการเข้าถึงคนงานในระดับบุคคล สร้างความพันธะผูกพันในกลุ่มไรเดอร์ และดึงพวกเขาให้เข้าร่วมในแคมเปญที่เน้นการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงมากกว่าการกระทำเชิงสัญลักษณ์

แม้ว่าการจัดตั้งผ่านแอปพลิเคชันจะประสบความสำเร็จบางส่วนในการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลและแอปแชทเพื่อสร้างการเชื่อมโยงระหว่างคนงานที่อยู่กระจัดกระจายแยกจากกัน แต่การจัดตั้งอย่างลึกซึ้งหมายถึงการที่นักจัดตั้งให้ความสำคัญกับการปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัว ซึ่งเป็นวิธีการจัดตั้งพื้นฐานที่แชทกลุ่มหรือการประชุมผ่าน Zoom ไม่สามารถทดแทนได้ บางกลุ่มได้สร้างการมีส่วนร่วมอย่างลึกซึ้งนี้ผ่านการจัดกิจกรรมทางสังคม การจัดให้มีการพบปะกันในพื้นที่ที่เป็นจุดรับงานทั่วไป หรือการจัดหาที่พักและพื้นที่พักผ่อนที่จำเป็นสำหรับคนงาน

การจัดตั้งอย่างลึกซึ้งคือการที่นักจัดตั้งต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาวะผู้นำและกระบวนการประชาธิปไตย คนงานจึงจะกลายเป็นพลังขับเคลื่อนที่แท้จริงเบื้องหลังแคมเปญ แทนที่จะเป็นแค่ผู้สนับสนุนการผลักดันทางนโยบายที่นำโดยเจ้าหน้าที่ขององค์กร NGOs ตัวอย่างเช่น การมีส่วนร่วมจากคนงาน ไม่เพียงแต่ในกิจกรรมการรวมกลุ่มเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการประชุมประจำที่คนงานสามารถแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจร่วมกันผ่านคณะทำงาน ทำให้บริษัทมองข้ามพลังร่วมกันของคนงานได้ยาก เมื่องานแพลตฟอร์มลดทอนพลังทางเศรษฐกิจ กลุ่มไรเดอร์จำเป็นต้องสร้างความแข็งแกร่งทางการเมืองและความเป็นเอกภาพที่ขยายออกไปจากขอบเขตเศรษฐกิจ

นี่คือการต่อสู้ระดับโลก และเราอาจจำเป็นต้องคิดทบทวนวิธีการมีส่วนร่วมกับนักการเมืองภายในประเทศและผู้ที่มาจากการเลือกตั้งในแต่ละประเทศ บริษัทแพลตฟอร์มดำเนินงานข้ามพรมแดน โดยบริษัทอย่าง Grab ถูกมองว่าเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาล ซึ่งทำให้การจัดตั้งในระดับท้องถิ่นยากขึ้น ลักษณะที่ดำเนินงานข้ามชาติของแพลตฟอร์มเหล่านี้หมายความว่า ไรเดอร์ต้องเผชิญกับทั้งกฎหมายแรงงานในพื้นที่และกลยุทธ์ข้ามชาติ เพื่อให้ได้มาซึ่งพลังร่วมกันของคนงาน เราต้องจัดการกับพลวัตรระดับโลกและระดับท้องถิ่นเหล่านี้ผ่านรากฐานแรงงานที่เป็นเอกภาพและข้ามพรมแดน เราจะสามารถสร้างขบวนการที่มีพลังต่อโลกเศรษฐกิจดิจิทัลให้เป็นธรรมต่อแรงงานได้ผ่านการจัดตั้งอย่างลึกซึ้งและการสร้างขบวนการแรงงานข้ามชาติ


*ในเดือนตุลาคม 2024 สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรมซึ่งผมทำงานอยู่ ร่วมกับ Asia Monitor Resource Center จัดการประชุมระดับภูมิภาคเกี่ยวกับเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในกรุงเทพฯ ประเทศไทย งานนี้ประกอบด้วยการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเต็มวันที่มุ่งเน้นประเด็นปัญหาทางเพศ ต่อด้วยการประชุมที่รวบรวมกลุ่มไรเดอร์ นักเคลื่อนไหว และนักวิจัยที่สนับสนุนการจัดตั้งของคนงานแพลตฟอร์มจากมากกว่าสิบประเทศในเอเชียต่ออีกสามวัน การประชุมจบลงด้วยการเจรจาทางสังคม (Social Dialogue) ซึ่งผู้เข้าร่วมจากต่างประเทศได้สังเกตเห็นถึงการมีส่วนร่วมของกลุ่มไรเดอร์ไทยในการหารือกับผู้กำหนดนโยบายเพื่อผลักดันข้อเรียกร้องของพวกเขา

การเป็นผู้ดำเนินรายการให้กับการอภิปรายระหว่างไรเดอร์ที่แบ่งปันกลยุทธ์การจัดตั้งของพวกเขานั้นมีความลึกซึ้งมาก เพราะมันทำให้เห็นถึงความท้าทายที่มีร่วมกันและความก้าวหน้าที่พวกเขากำลังเผชิญ บทความนี้สะท้อนถึงกลยุทธ์และความท้าทายร่วมกันในภูมิภาค โดยอิงจากการประชุมและประสบการณ์การทำงานร่วมกับไรเดอร์มากว่า 5 ปีของผม