บทสะท้อนคิด เศรษฐกิจแบบเฟมินิสต์ในบริบทโควิด-19 กับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง

แปลจากแถลงการณ์ Reflecting from the Feminist Confluence in the Context of Covid-19 Feminist Economy in a world in transformation โดย World Social Forum on Transformative Economies

source: activehistory.ca

ในระหว่างช่วงเวลาที่ไม่ปรกติของการจำกัดพื้นที่เพื่อพยายามหยุดยั้งการแพร่กระจายของโควิด-19 นั้น สังคมของพวกเรายังคงเผชิญหน้ากับความท้าทายในชีวิตประจำวันเพื่อดูแลรักษาชีวิตให้ดำเนินต่อไปท่ามกลางความไม่แน่นอน ในคราวเดียวกันนั้น พวกเรายังต้องจดจ่อกับอนาคตข้างหน้า กับโลกซึ่งไม่ใช่โลกใบเก่าและกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงราก

ผู้หญิงยังคงเป็นแนวหน้าของการตอบสนองต่อสถานการณ์ พวกเธอระดมกำลังคน ความรู้ และข้อเสนอที่มีศูนย์กลางอยู่ที่การดูแล (care) ขณะที่อีกทางหนึ่ง พวกเธอก็ต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมและความอยุติธรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเลวร้ายยิ่งขึ้นจากสถานการณ์ปัจจุบัน โลกได้ยอมรับว่าจะไม่มีชีวิตหรือเศรษฐกิจหากปราศจากการดูแล และโลกยอมรับเช่นเดียวกันว่าทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ได้นำเรามาสู่วิกฤตการณ์ครั้งนี้

ในท่ามกลางความท้าทายและทางเลือกที่เชื่อมโยงและขัดแย้งกันในทีอย่างลึกซึ้งนี้ เราจำเป็นต้องตอกย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเคลื่อนไปข้างหน้าสู่เศรษฐกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืนของชีวิตดังนี้:

ใน “ชีวิตก่อนโควิด-19” เราประณามภาระที่หนักเกินไปของผู้หญิง วัฒนธรรมชายแกร่ง (macho culture) และความรุนแรงเชิงเพศสภาพ (gender violence) ซึ่งล้วนเป็นคุณลักษณะของระบบ ที่ทุกวันนี้เข้าขั้นสาหัสมากยิ่งขึ้น การจำกัดผู้คนให้อยู่แต่ในบ้านตัวเองทำให้เกิดการกระจุกตัวของคนที่ทำกิจกรรมทั้งแบบดั้งเดิมและแบบใหม่ในพื้นที่ที่มักขาดความมั่นคงในการทำงาน นอกเหนือไปจากภาระอื่นๆ ในชีวิตประจำวันแล้ว งานด้านการดูแลในแต่ละวันถูกผนวกรวมเข้ากับการเรียนการสอนแบบเสมือนจริงและ “งานที่ทำผ่านระบบสื่อสารจากที่บ้าน (telework)” วิถีชีวิตใหม่นี้ ซึ่งจะดำเนินต่อไปในช่วง “ระยะห่างทางสังคม” นอกจากจะไม่เอื้อให้เกิดการอภิวัฒน์ไปสู่ระบบการดูแลที่แท้จริงแล้ว ยังนำซึ่งการถดถอยลงของรูปแบบการจัดการการดูแลที่มีอยู่ ซึ่งยังคงต่ำกว่ามาตรฐาน ในแง่ของการผนวกไว้ด้วยกันของทรัพยากร เวลาและสถานที่ เครือข่ายสังคมและครอบครัว ผู้ให้บริการและโรงเรียนซึ่งในบางกรณีนั้นรวมถึงโครงการอาหารสำหรับนักเรียน

นอกจากนี้ การมุ่งเน้นตัวแม่แบบทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่วางอยู่บนรูปแบบครอบครัวเดี่ยว (nuclear family) ซึ่งตั้งอยู่บนสมมุติฐานของมุมมองผู้ชายเป็นศูนย์กลาง (androcentrism) และระบบชายเป็นใหญ่ (patriarchy) นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของความรุนแรงตามเพศสภาพ ดังที่ปรากฏในรายงานจำนวนมากจากประเทศต่างๆ

ในขณะที่การดูแลมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อชีวิตและเศรษฐกิจ แต่ก็มีการถดถอยของเงื่อนไขของงานด้านการดูแล การเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นที่จะต้องเชื่อมโยงกับการนำแบบจำลองเศรษฐกิจใหม่มาใช้

source: https://pollytrenow.com/wp-content/uploads/2014/08/care-work.jpg

ในภาคสาธารณสุข กำลังแรงงานส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้หญิง (หรือมีความเป็นหญิง) ดังนั้นจึงมีความไม่มั่นคงสูงเมื่อพิจารณาถึงกว่าหลายทศวรรษที่ผ่านมาของแผนการปฏิรูปแนวเสรีนิยมใหม่และระบอบการค้าแบบไล่ล่าทรัพยากร ผู้หญิงยังคงทำงานที่ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ เนื่องจากพวกเขาต้องเกี่ยวข้องกับผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 ในการทำงานที่ยาวนาน ด้วยอุปกรณ์ป้องกันที่มีน้อยมาก พวกเธอเผชิญความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการเสียชีวิต การจัดให้มีระบบการประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น และเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดการกับสภาพการทำงานที่ไม่เท่าเทียมของผู้หญิงที่ทำงานด้านสุขภาพและสาธารณสุข ในทำนองเดียวกัน เป็นเรื่องจำเป็นที่จะกำหนดบทบาทของอุตสาหกรรมยาเสียใหม่ พวกเขายังคงวางกำไรอยู่เหนือชีวิตของคนท่ามกลางวิกฤตินี้

ในขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตและบริษัท ผลิตอาหารขนาดใหญ่ยังคงสร้างผลกำไรจากการจัดหาสินค้าให้กับภาคส่วนที่สามารถซื้อได้ เศรษฐกิจของเกษตรกร ฐานชุมชนและเศรษฐกิจสมานฉันท์ (social and solidarity economy) กลับได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามผ่านรูปแบบต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีอาหารพื้นฐานสำหรับทุกคน สิ่งนี้เองแสดงให้เห็นถึงความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของการพัฒนาขีดความสามารถในระดับท้องถิ่นของการตอบสนองบนฐานของเครือข่ายสังคม ที่ตอบสนองด้วยตรรกะของความสมานฉันท์และการเติมเต็ม และซึ่งตอนนี้กำลังถูกปรับรูปแบบให้เข้ากับข้อ จำกัดของการกักกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัส กล่าวอีกนัยหนึ่ง ศักยภาพของประสบการณ์ ที่ได้รับการส่งเสริมโดยผู้หญิงในแง่ของความเอาใจใส่ต่อความต้องการขั้นพื้นฐานของการผลิตซ้ำกำลังแรงงาน (reproduction) และการดูแลปรากฏเด่นชัดมากขึ้น

แม้ว่าการระบาดใหญ่จะเปิดให้เห็นความไม่เท่าเทียมในสภาพที่เปลือยเปล่า แต่มันก็กลายเป็นข้ออ้างสำหรับการขยายรูปแบบการควบคุมต่างๆในเชิงเผด็จการทางสังคมและภาครัฐ ความเปราะบางทางเศรษฐกิจนำไปสู่การลดลงหรือหยุดชะงักอย่างฉับพลันของรายได้ รวมถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการติดเชื้อ และโอกาสที่ลดลงที่จะได้รับการดูแลเอาใจใส่ของกลุ่มแรงงานที่ไม่มั่นคง แรงงานข้ามชาติหญิง ผู้ลี้ภัย ผู้หญิงในเรือนจำ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ได้นำไปสู่การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของการเหยียดทางชนชั้น เชื้อชาติและเกลียดกลัวชาวต่างชาติอย่างสุดโต่ง ที่แพร่กระจายในทุกภาคส่วนของสังคม พร้อมกับภาพของชีวิตคนกลุ่มนี้ที่ถูกนำเสนอราวกับว่าสามารถโยนทิ้งตามต้องการ แทนที่จะส่งเสริมพฤติกรรมทางสังคมที่เน้นความสมานฉันท์ การควบคุมสอดส่องจากรัฐกลับกำลังได้รับการส่งเสริม

เมื่อเปรียบเทียบกับหลายเดือนก่อนหน้า ช่วงเวลาแห่งความโดดเดี่ยวนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของพลวัตทางสังคมในการต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ ในระหว่างที่การกักกันผู้คนถูกบังคับใช้ มีมาตรการใหม่ที่จะควบคุมความต้องการที่เร่งด่วนที่สุดสำหรับการจัดหาอาหารและด้านสุขภาพ ดังที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเวลาวิกฤติในอดีต ผู้หญิงได้ค้นพบรูปแบบทางเลือกของการแสดงออก การติดต่อสื่อสารและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ตัวอย่างบางประการก็เช่น การสนับสนุนการซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากผู้ผลิตสตรี การซื้อสบู่และหน้ากากที่ผลิตโดยโครงการด้านเศรษฐกิจสมานฉันท์ และการกระจายของใช้จำเป็นไปยังภาคส่วนที่เปราะบางที่สุด

บนรอบต่อของความเป็นและความตายที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 พวกเรามองเห็นจิตสำนึกที่ขยายตัวขึ้นสำหรับความจำเป็นที่จะมีวาระการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนของชีวิต ไม่ใช่เศรษฐกิจที่แลกมาด้วยชีวิต

ถึงกระนั้นก็ตาม ยังคงมีแรงขับเคลื่อนที่ทำงานอย่างดึงดันเพื่อผลักดันการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะและสังคมไปรักษา “ตลาด”และธุรกิจ พวกเขายังคงเดินซ้ำรอยเก่าของแนวปฏิบัติที่ผ่านมาของการสร้างหนี้ ซึ่งได้สร้างแรงกดดันมากขึ้นกับเศรษฐกิจของชาติและครอบครัวที่เป็นหนี้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เรายังเห็นการตอบสนองแบบอื่นๆ ซึ่งรวมถึงมาตรการคุ้มครองทางสังคม การเพิ่มการเข้าถึงด้านสุขภาพและการดูแลการรักษา การประกันรายได้ขั้นพื้นฐาน การให้เงินช่วยเหลือหรือการลาที่ได้รับค่าแรงของคนงาน การสนับสนุนคนงานภาคสุขภาพและการดูแล เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นมาตรการสำคัญที่บังคับใช้ แต่ยังไม่สามารถเรียกได้ว่าเพียงพอในการรับมือกับปัญหาพื้นฐานที่มีอยู่เดิมของระบบ

ท่ามกลางกลุ่มทางสังคมแบะเศรษฐกิจที่มุ่งมั่นที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับชีวิต มีกลุ่มที่กำลังเติบโตที่กล่าวว่าเราต้องเปลี่ยนลำดับความสำคัญของเรา เน้นการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของการจัดการการผลิต การแลกเปลี่ยนและการบริโภค การระบาดของไวรัสได้เผยให้เห็นความล้มเหลวของระบบทุนนิยมและความจำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงระบบอย่างถึงรากในหลายทาง เช่น ปฏิรูปโครงสร้างระบบการเงิน รวมทั้งข้อเสนอเช่น ความยุติธรรมทางภาษี การค้าที่เป็นธรรม สกุลเงินทางเลือก เศรษฐกิจฐานชุมชน และเศรษฐกิจแบบสังคมและสมานฉันท์ นิเวศเกษตรกรรม อธิปไตยอาหาร ฯลฯ

ท่ามกลางความเร่งด่วนที่เราเผชิญ เพื่อสนองความต้องการขั้นพื้นฐานด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา การสุขาภิบาลและรายได้พื้นฐานสำหรับทุกคน มีฉันทามติทางสังคมว่าจำเป็นที่จะต้องเก็บภาษีจากผู้ที่มีรายได้มหาศาล ในขณะเดียวกัน จะต้องเดินหน้าไปสู่รูปแบบทางเลือกของการฟื้นเศรษฐกิจ ที่รวมถึงการนิยามงานใหม่ (เป็นงาน) ในรูปแบบที่จำเป็นทางสังคมและปรับเปลี่ยนงานที่เป็นอันตรายและเกี่ยวข้องกับสารพิษที่ทำลายสิ่งมีชีวิตให้กลายเป็นรูปแบบการผลิตหรืองานใหม่ในมุมมองของสตรีนิยมเชิงนิเวศ (ecofeminist perspective)

เรายังคงต่อต้านร่วมกัน เราจะไม่ออกจากพื้นที่สาธารณะ และพวกเรามีจำนวนมากขึ้น เราอดทนในการทักทอโฉมหน้าของเศรษฐกิจใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติทั้งหมด

ดูรายชื่อองค์กรที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนแถลงการณ์นี้ได้ที่ https://transformadora.org/en/reflection-feminist-confluence-context-covid19-feminist-economy-world-transformation