แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเฟมินิสต์ฉบับชาวฮาวาย: มั่นคง มั่งคั่ง และเท่าเทียมทางเพศอย่างยั่งยืน

นับตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา โรคระบาด Covid-19 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบให้มีผู้ป่วยในประเทศสหรัฐเสียชีวิตรวมแล้วกว่า 75,000 ราย แต่ยังทำให้ผู้ที่ยังเหลือรอดใช้ชีวิตอย่างยากลำบากเช่นกัน เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา มีรายงานว่าแรงงานชาวสหรัฐมากกว่า 26 ล้านคนเตรียมเข้าแถวลงทะเบียนขอรับสวัสดิการรัฐจากเหตุตกงาน

Covid-19 ไม่ได้ทำหน้าที่คัดสรรผู้อยู่รอดอย่างเท่าเทียม ทั้งในแง่ผู้รอดชีวิตและผู้รอดพ้นจากระลอกคลื่นเศรษฐกิจ ในบางแห่ง เช่น เมืองมิลวอกี (Milwaukee) ในรัฐวิสคอนซิน ผู้เสียชีวิตจากโรคถึง 3 ใน 4 เป็นคนเชื้อชาติแอฟริกัน-อเมริกัน และในขณะที่แรงงานชายมักมีอัตราตกงานสูงกว่าแรงงานหญิงในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งที่ผ่านๆ มา เพราะในอดีตโรงงานอุตสาหกรรมมักจ้างแรงงานชายมากกว่าหญิง มาครั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์กลับชี้ว่ามีแรงงานหญิงตกงานในอัตราที่มากกว่า นั่นเป็นเพราะในปัจจุบันแรงงานชายมักทำงานในตำแหน่งที่สามารถทำงานจากบ้าน (work from home) ได้ ในขณะที่ผู้หญิงจำนวนมากทำงานในร้านอาหารหรือธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นธุรกิจแรกๆ ที่ถูกปิดกิจการชั่วคราวในช่วงที่มีการระบาด ยังไม่นับว่าในสภาวะปกติแรงงานหญิงในสหรัฐก็เผชิญปัญหาค่าแรงต่ำกว่าแรงงานชายอยู่แล้ว

หลังจากที่แอนดรูว์ คัวโม (Andrew Cuomo) ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ศูนย์กลางการระบาดในสหรัฐเรียก Covid-19 ว่าเป็น ‘ตัวช่วยสร้างความเท่าเทียมแก่โลก’ (The Great Equalizer) คารา จาโบลา-คาโรลัส (Khara Jabola-Carolus) ผู้อำนวยการบริการคณะกรรมาธิการสถานะสตรีแห่งรัฐฮาวาย (Commission on the Status of Women) ก็นำข้อมูลออกมาคัดง้างเพื่อแสดงท่าทีว่าเธอไม่เห็นด้วยกับคำนิยามของเขา

“ยอดผู้เสียชีวิตชี้ชัดว่าโรคนี้ไม่ได้สร้างความเท่าเทียมใดๆ เห็นได้ว่าการระบาดของไวรัสและผลที่ตามมาหลังจากนั้นกระทบคนกลุ่มหนึ่งรุนแรงกว่าอีกกลุ่ม ประการแรก ราคาที่ต้องจ่ายเพื่อจะมีสุขภาพที่ดีในอเมริกานั้นแพงกว่าที่คนผิวสี ชนพื้นเมือง หรือแรงงานข้ามชาติจะเอื้อมถึง”

ฮาวายเป็นรัฐที่มีปัญหาทุกอย่างที่กล่าวมา ประชากรในรัฐฮาวายมีลักษณะหลากหลายและไม่ใช่แบบชาวอเมริกันกระแสหลัก มีทั้งชนพื้นเมืองและแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก มีสัดส่วนผู้สูงอายุอาศัยอยู่มาก เป็นครอบครัวขยายที่อยู่รวมกันหลายรุ่น นอกจากนี้ฮาวายยังเป็นรัฐที่มีค่าครองชีพสูงสุดในสหรัฐ ขนาดที่ลำพังเมื่อไม่มีไวรัสประชากรมากกว่าครึ่งก็ยังแทบเอาตัวไม่รอดจากปัญหาการเงินส่วนตัว และเมื่อมีไวรัส ฮาวายก็ทำสถิติเป็นรัฐที่มีอัตราการว่างงานสูงสุดในประเทศ

มีการคาดการณ์ว่ากลุ่มประชากรที่จะได้รับแรงกระแทกจากโรคระบาด Covid-19 หนักที่สุดคือชาวฮาวายพื้นถิ่น แรงงานข้ามชาติหญิง คนผิวสี และชาวสหพันธรัฐไมโครนีเซีย (Micronesia) อดีตประเทศภายใต้การบริหารของสหรัฐที่ยังคงประสบปัญหาว่าพึ่งพาสหรัฐมากเกินไปแม้จะได้รับเอกราชภายใต้สัญญาความสัมพันธ์เสรี (Compact of Free Association) แล้วก็ตาม คนเหล่านี้มีแนวโน้มใช้ชีวิตอยู่ตามชนบท ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกสุขภาพและได้รับค่าตอบแทนต่ำ ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพและอาหารที่มีคุณค่าตามหลักโภชนาการ ปัจจัยเหล่านี้เองที่เป็นตัวเร่งอัตราการเสียชีวิตหากมีผู้ติดเชื้อ Covid-19

เมื่อวันที่ 22 เมษายน ฮาวายจึงกลายเป็นรัฐแรกที่ออกมาประกาศนโยบาย ‘แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบเฟมินิสต์’ โดยคำนึงถึงกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความใส่ใจเป็นพิเศษ เช่น ชนเผ่าพื้นเมือง แรงงานข้ามชาติหญิง ผู้หญิงที่ต้องดูแลผู้ป่วย-ผู้สูงอายุในครอบครัว หญิงสูงอายุ หญิงรักหญิง และกลุ่มนอน-ไบนารี (non-binary) นักโทษหญิง คนไร้บ้านหญิงที่อาศัยที่สาธารณะเป็นบ้านหลับนอน ผู้พิการหญิง และหญิงที่ถูกทารุณกรรมในครอบครัวหรือเหยื่อการค้ามนุษย์ ทั้งหมดนี้เพื่อการเปลี่ยนแปลงในระดับลึกถึงรากวัฒนธรรม ซึ่งมากกว่าการเปลี่ยนแปลงด้วยนโยบายฟื้นบำรุงเศรษฐกิจแบบเดิมๆ

แผนการนั้นมีชื่อว่า ‘Building Brigdes: Not Walking on Backs’ (สร้างสะพานก้าวไปด้วยกัน มิใช่เหยียบย่ำบนหลังใคร) ความยาวจำนวนเพียง 20 หน้า บนหน้าปกที่มีรูปวาดสื่อถึงผู้หญิงจากหลากหลายกลุ่ม เชื้อชาติ และสีผิวในฮาวายกำลังโอบกอดกันไว้ คาราบอกว่ายังไม่เคยเห็นรัฐอื่นในสหรัฐ หรือประเทศอื่นๆ ที่คิดค้นแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยชูธงให้ผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง แม้แต่ข้อเสนอของฝ่ายซ้ายในสหรัฐเองก็ยังวนเวียนอยู่กับประเด็นเชื้อชาติและชนชั้นมากกว่า

“ผู้คนไม่เข้าใจพื้นฐานแนวคิดชายเป็นใหญ่ และไม่เข้าใจว่าเรื่องเพศเกี่ยวพันกับชนชั้นและเชื้อชาติอย่างไร สุดท้ายฉันจึงหันกลับไปหาองค์กรสตรี กลุ่มคนซึ่งมีพลังเคลื่อนไหวทั้งในและนอกรัฐสภา”

แผนการความยาว 20 หน้าเริ่มต้นจากหลักการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเด็กหญิง ผู้ใหญ่ที่นิยามตนเองเป็นเพศหญิง องค์กรเกี่ยวกับผู้หญิง ไปจนถึงภาคธุรกิจที่จ้างแรงงานหญิงจำนวนมาก และกำชับมิให้รัฐบาลใช้มาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังผ่านการเพิ่มภาษีหรือลดค่าใช้จ่ายภาครัฐอย่างที่มักทำกันเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เนื่องจากเห็นว่าสุดท้ายมาตรการทำให้เศรษฐกิจถดถอยมากกว่าเดิม

แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจฉบับเฟมินิสต์เรียกร้องให้มีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของรัฐฮาวาย จากเดิมที่เน้นงบประมาณด้านการทหารและพึ่งพาเม็ดเงินจากธุรกิจท่องเที่ยว เป็นการสนับสนุนการผลิตชุด PPE (อุปกรณ์ทางการแพทย์) อย่างยั่งยืน และมีโครงการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและเชื้อชาติ ผ่านการสร้างเสริมโอกาสให้แรงงานหญิงมี ‘อาชีพสีเขียว’ ในธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานทดแทน การจัดการสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งเดิมเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์เป็นอาชีพที่ถูกครองโดยกลุ่มแรงงานชาย ในทางกลับกัน คาราเห็นว่าควรส่งเสริมให้แรงงานชายเข้าสู่ตลาดอาชีพการดูแลเด็ก ผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุให้มากขึ้นเช่นกัน เพื่อลดภาพจำว่างานบ้านและงานการดูแลเป็นหน้าที่ของผู้หญิงเท่านั้น

นอกจากการสร้างอาชีพ คาราและคณะกรรมาธิการสถานะสตรียังกำหนดให้ขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ (minimum wage) ที่พอสำหรับเลี้ยงดูแรงงานเพียง 1 คน เป็น ‘ค่าแรงเพื่อชีวิต’ (living wage) ที่พอให้แรงงาน 1 คนสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวไปพร้อมกันได้ ในอัตรา 24.80 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง (ประมาณ 800 บาทต่อชั่วโมง) ซึ่งเป็นอัตราที่ทำให้แม่เลี้ยงเดี่ยวสามารถอยู่ได้อย่างไม่ขัดสน นอกจากนี้ยังเสนอให้จ่าย ‘รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า’ (Universal Basic Income; UBI) แก่สมาชิกครอบครัวที่ต้องทำงานบ้าน ดูแลสมาชิกอื่นๆ ที่ถือว่าเป็นงานอีกประเภทหนึ่งซึ่งผู้หญิงต้องทำโดยไม่ได้รับค่าจ้าง

“สำหรับงานดูแลสมาชิกในครอบครัวบางอย่างที่ไม่เหมาะแก่การจ้างคนนอกมาทำแทน เช่น การเลี้ยงดูบุตรหลาน โครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับสุขภาพทางสังคมก็ควรมีระบบ ‘จ่ายค่าชดเชยลาเลี้ยงลูกขั้นต่ำ 1 ปี’ แก่พ่อแม่ที่ต้องหยุดงานเพื่อทำงานบ้านอย่างไม่รู้จบสิ้น”

คาราสนับสนุนให้แรงงานลาป่วยโดยได้รับค่าจ้าง รวมถึงให้แรงงานที่มีครอบครัวหรือเป็นพ่อ-แม่เลี้ยงเดี่ยวสามารถลาหยุดไปเลี้ยงดูบุตรหลานได้โดยได้รับค่าจ้าง คารายังเกรงว่าผลกระทบจาก Covid-19 อาจทำให้อัตราการตายของมารดาเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการเดินทางที่ยากลำบากขึ้นและโรงพยาบาลกลายเป็นจุดเสี่ยงติดเชื้อ เธอยังชี้ว่าก่อนหน้าที่จะมีโรคระบาด อัตราการตายของมารดาชาวผิวสีมีมากกว่ามารดาผิวขาวถึง 3 เท่าจากอคติทางเชื้อชาติของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล

“ผู้หญิงชนบทและผู้หญิงที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะที่จะคลอดที่บ้านจึงเสี่ยงอันตรายมาก คนเหล่านี้คลอดลูกโดยพึ่งความช่วยเหลือจากหมอตำแยซึ่งมีอยู่ไม่กี่คนทั่วฮาวาย นี่จึงควรเป็นสัญญาณเตือนว่าเราต้องการระบบอนามัยมารดาที่ครอบคลุมเรื่องการผดุงครรภ์” เธอกล่าว

ประชากรอีกกลุ่มที่แผนการปฏิรูปเศรษฐกิจฉบับเฟมินิสต์ให้ความสำคัญคือกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนมากเป็นเพศหญิงและมีฐานะยากจน โดยเฉพาะผู้หญิงรุ่นเก่าที่มักโตมากับการถูกบีบให้ทำงานที่ได้ค่าตอบแทนต่ำ ทำงานบ้านโดยไม่มีค่าตอบแทน หรือใช้ชีวิตพึ่งพาสามีจนไม่สามารถเก็บเงินสร้างตัวได้ เมื่อชรามาจึงไม่มีหลักประกันเป็นหลังพิงสำหรับเลี้ยงดูตนเอง

ภายในสิบปี คาราชี้ว่าฮาวายจะมีสัดส่วนประชากรสูงอายุถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด และถ้าหากรัฐไม่สร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการดูแลประชากรกลุ่มนี้แล้ว คนชราที่ร่ำรวยก็อาจจ้างพนักงานดูแลมาบริการได้ แต่สำหรับคนชราที่มีฐานะไม่ดีนัก หน้าที่การดูแลก็จะตกเป็นของลูกสาว และผลิตวงจรหญิงที่ทำงานบ้าน ดูแลสมาชิกครอบครัวโดยไม่ได้รับค่าจ้างไปจนตัวเองแก่ชรา วนเวียนซ้ำไปไม่จบสิ้น

ถึงแม้ว่าจะเป็นแผนที่ถูกร่างมาสำหรับเศรษฐกิจเฉพาะรัฐใดรัฐหนึ่ง ไม่ใช่แผนการจากรัฐบาลกลาง แต่คาราและคณะกรรมาธิการสถานะสตรีแห่งรัฐฮาวายไม่ได้สงวนสิทธิ์แผนพัฒนาเศรษฐกิจไว้ตามลำพังเท่านั้น คาราเห็นว่ารัฐอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกาก็สามารถนำ ‘แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจฉบับเฟมินิสต์’ ไปใช้ได้ไม่ยาก เนื่องจากแผนฟื้นฟูฯ ตอบคำถามสำคัญครบทั้ง 4 คำถาม นั่นคือ รัฐนั้นๆ จะหางบประมาณจากไหนมาแก้ปัญหา จะกระตุ้นการจ้างงานได้อย่างไร ควรทุ่มงบประมาณให้กับกิจกรรมใดบ้าง และคำถามสำคัญที่ว่า เศรษฐกิจที่เข้มแข็งและมั่นคงมากขึ้นที่แต่ละรัฐต่างฝันถึงควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร

“สร้างกองทัพชาวเฟมินิสต์ของคุณเอง แล้วมองไปให้ไกลกว่าความคิดเห็นจากปากผู้แทนหรือผู้มีอำนาจเขียนกฎหมาย สร้างการมีส่วนร่วมของผู้หญิงธรรมดาที่มีประสบการณ์ตรงและเข้าใจความยากลำบากของผู้หญิงอีกมากที่เผชิญชีวิตอยู่บนความเสี่ยง มองหานักเศรษฐศาสตร์หญิงและนักเศรษฐศาสตร์ที่มีแนวคิดวิพากษ์เศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism)”

“ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด มองภาพใหญ่ให้ออก และมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ”

อ่านแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจฉบับเฟมินิสต์ฉบับเต็มได้ที่

ขอบคุณเนื้อหาจาก

ขอบคุณภาพประกอบจาก