(ไหนว่า) เราไม่ทิ้งกัน: ตรวจสอบสถานะความเป็นอยู่ของผู้รอการเยียวยา

นับตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม วันแรกของการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ‘เราไม่ทิ้งกัน.com’ ก็เป็นเวลากว่า 20 วันแล้วที่รัฐบาลไทยสัญญาว่าจะช่วยเหลือแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากการปิดงานในช่วงการระบาดของโรค Covid-19 เป็นเงินสดมูลค่า 5,000 บาทต่อเดือน ต่อคน ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา 3 เดือน

ภายหลังจากเว็บไต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เปิดให้ลงทะเบียนเป็นวันแรก ปัญหาแรกๆ ที่มีผู้ร้องเรียนกันเข้ามาคือ ระบบลงทะเบียนล่ม ไม่สามารถเข้าเว็บไซต์ได้ หรือหากกดเข้าไปในเว็บไซต์ได้ทันก็ไม่ได้แปลว่าลงทะเบียนสำเร็จเสมอไป มีประชาชนหลายรายที่เข้าหน้าเว็บไซต์ได้แล้วกลับพบข้อความว่า ‘ดำเนินการไม่สำเร็จ กรุณาลองใหม่อีกครั้ง’ รออยู่

ข้อมูล ณ วันที่ 14 เมษายนรายงานว่ามีผู้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์แล้ว 27.2 ล้านคน ผู้ที่จะได้รับเงินต้องมีสถานะในระบบว่า “ท่านได้รับสิทธิมาตรการเยียวยา 5,000 บาท” ซึ่งรัฐทยอยจ่ายแล้ววันละหลักแสนคน รวมประมาณ 3 ล้านคนเศษ ในขณะเดียวกันก็คัดกรองผู้ไม่เข้าเกณฑ์ เช่น ผู้ที่มีสถานะในระบบลงทะเบียนเป็นเกษตรกรหรือนักเรียนนักศึกษาออก ภายหลังจึงมีหลายรายท้วงว่าแท้จริงแล้วตนประกอบอาชีพอื่นแต่ถูกระบบตัดชื่อออก

เกณฑ์การคัดเลือกที่ไม่ชัดเจน ฐานข้อมูลของรัฐที่ไม่มีความแม่นยำ และกระบวนการคัดกรองที่ล่าช้าเป็นเหตุให้คนที่ตกหล่นตัดสินใจรวมตัวประท้วงหน้ากระทรวงการคลังในวันเดียวกัน

ถัดมา กระทรวงการคลังประกาศว่าในวันที่ 20 เมษายน จะเปิดระบบอุทธรณ์ออนไลน์ให้ผู้เดือดร้อนที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาเข้ามากรอกข้อมูลเพื่อเข้ารับการพิจารณาใหม่อีกครั้ง สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสมในสถานการณ์วิกฤต ความล่าช้าเช่นนี้อาจสรุปได้ว่าเป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือนเต็มที่ประชาชนต้องแขวนปากท้องและชะตาชีวิตหลังจากนี้ไว้กับสถานะการลงทะเบียนของรัฐ

สำหรับผู้ไม่เข้าเกณฑ์ร่วมโครงการเราไม่ทิ้งกันที่รัฐบอกให้รอการเยียวยาจากโครงการอื่นๆ เฉพาะเจาะจงเป็นกลุ่มอาชีพไปในอนาคต อาจเป็นการกัดก้อนเกลือรอความช่วยเหลือที่อยู่แสนไกลไม่รู้หนไหน ในทางกลับกัน สำหรับผู้เข้าเกณฑ์ที่ความช่วยเหลือยังมาไม่ถึงเสียที การภาวนารอให้สถานะในระบบของตนเปลี่ยนเป็นคำว่า ‘ท่านได้รับสิทธิมาตรการเยียวยา’ ก็อาจเป็นการรอความช่วยเหลือที่อยู่แสนใกล้แต่เอื้อมมือไปคว้าไม่ถึง หากจะมีสิ่งที่คล้ายกันอยู่บ้างก็คงเป็นการกัดก้อนเกลือกิน ลิ้มรสความทุกข์ร้อนระหว่างรอไม่ต่างกัน

เหลืออีกเพียงไม่กี่วันก่อนจะเปิดระบบให้กรอกคำร้องอุทธรณ์ออนไลน์ จากวันลงทะเบียนวันแรกจนถึงวันนี้ที่ความช่วยเหลือยังมาไม่ถึง ผู้เข้าเกณฑ์ในโครงการเราไม่ทิ้งกันยังคงรอคอยเงินเยียวยาจำนวน 5,000 บาท ด้วยความหวังว่าเงินจำนวนนี้จะมาถึงทันก่อนจะสิ้นลมด้วยความอด

พิสูจน์ความยากจน

‘นาง’ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างหญิงวัย 53 ปี แถบรังสิต เล่าด้วยความคับแค้นใจว่าเธอลงทะเบียนตั้งแต่วันแรกๆ โดยไหว้วานให้ลูกที่ใช้เทคโนโลยีคล่องกว่าเป็นผู้กรอกข้อมูลในระบบให้ ส่วนตัวเธอไม่ถนัดการลงทะเบียนออนไลน์ ซ้ำโทรศัพท์ที่มีก็มีประสิทธิภาพลดลงตามระยะเวลาการใช้งานที่ยาวนาน

“ลงวันแรกก็ขึ้นว่า เลขบัตรประจำตัวประชาชนเราไม่ถูกต้อง มันจะไม่ถูกได้อย่างไร ก็เราใช้เลขนี้ติดต่อธุระอื่นมาแล้วทั้งชีวิตก็ยังใช้ได้ปกติ” เธอกล่าว เล่าว่าตัวเองและลูกใช้เวลานับครั้งไม่ถ้วนพยายามลงทะเบียนซ้ำๆ ด้วยเลขบัตรประชาชนที่เช็กแล้วเช็กอีกว่าเป็นของเธออย่างถูกต้อง พลางบ่นว่าอย่างนี้ตาสีตาสาที่ไม่มีสมาร์ทโฟนหรือลงทะเบียนไม่เป็นเลยหากเดือดร้อนกว่าเธอจะทำอย่างไร

นางเล่าว่า เดิมเศรษฐกิจไม่ดีอย่างไรวันหนึ่งก็ยังพอวิ่งรถได้ค่ากับข้าวมาบ้าง แต่หลังจากรัฐบาลประกาศให้หยุดกิจการบางประเภทเป็นการชั่วคราว ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโรค Covid-19 ทวีความรุนแรงขึ้น ปัจจุบันเธอจึงหาเงินได้เพียงวันละ 35-45 บาทเท่านั้น สวนทางกับค่าใช้จ่ายที่มีคงที่ ทั้งค่าน้ำ-ไฟ ค่าเบี้ยประกันตนเองตามประกันสังคมมาตรา 39 ค่าผ่อนบ้านให้ลูกชาย ไปจนถึงค่าผ่อนมอเตอร์ไซค์ที่ใช้เลี้ยงชีพโดยไม่มีการพักหนี้ และค่าหยูกยาบรรเทาอาการไมเกรนและโรคเครียด ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เพิ่มเข้ามาเพื่อป้องกันโรค เช่น ค่าหน้ากากอนามัย

หลังจากลงทะเบียนรอบแรกไม่ผ่าน เธอลงทะเบียนซ้ำจนเอาชื่อเข้าไปกองรวมกับชื่อคนเดือดร้อนรายอื่นๆ ในระบบได้สำเร็จ แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 เมษายน สถานะการลงทะเบียนมาตรการเยียวยาโครงการเราไม่ทิ้งกันของนางยังคงค้างเติ่งอยู่ที่ ‘อยู่ระหว่างการตรวจสอบ’ เธอไม่ได้ถือสาที่จะต้องให้รัฐมาพิสูจน์ความทุกข์ยากก่อนจึงจะหยิบยื่นเงินเยียวยาให้ แต่กระบวนการตรวจสอบที่ล่าช้าต่างหากที่ทำให้เธอกังวลว่าจะเอาอะไรกินระหว่างรอ

นางบอกว่าทุกวันนี้เธอกินเท่าที่จำเป็น บางวันที่รู้สึกหิวแต่ยังไม่ถึงมื้ออาหารก็ต้องอดทน เพราะต้องประหยัดเงิน ตอนนี้งานวิ่งรับส่งผู้โดยสารของเธอทำเงินได้ไม่มากแล้ว บางวันวิ่งได้ชั่วโมงเดียวก็เกิดความเครียดจนทำงานต่อไม่ไหว กำเงิน 10-15 บาทกลับบ้านไปรับประทานยาแก้ปวดศีรษะแล้วงีบพักผ่อน รายได้จากลูกสาวและลูกชายก็ไม่แน่นอน บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินเดือนไม่เต็มมูลค่าในช่วงมีโรคระบาด

ถึงจะเดือดร้อนและเป็นหนึ่งในสี่กลุ่มอาชีพที่รัฐบาลประกาศว่าจะรีบเยียวยาเป็นกลุ่มแรกๆ แต่ผ่านไปกว่า 3 สัปดาห์แล้วนับตั้งแต่นางกรอกอาชีพและรายได้ต่อเดือนเข้าไปในระบบก็ยังไม่มีวี่แววว่าความช่วยเหลือจะมาถึง

อยู่เพื่อรอคอยความหวังเดียวที่มี

นางกล่าวว่าต่อให้ประหยัดอย่างไร เงิน 5,000 บาทก็เป็นจำนวนไม่มากพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายทุกอย่าง แต่อย่างน้อยหากได้มาก็จะพอบรรเทาให้เดือนนี้ผ่านไปอย่างไม่ลำบากนัก เงินเยียวยาในโครงการเราไม่ทิ้งกันเป็นความหวังเดียวในตอนนี้ เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมประกาศว่ามีมาตรการเยียวยาสำหรับผู้ประกันตนเฉพาะมาตรา 33 โดยให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เช่นกัน เธอที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 และจ่ายเบี้ยประกันตนเองมาตลอดก็หมดสิทธิ์

“พี่ก็รออยู่ ก็ยังไม่เห็นว่า (โครงการเราไม่ทิ้งกัน) จะแจ้งอะไรกลับมา” เธอเล่าเสียงเจืออารมณ์ “ถ้าเลือกได้พี่ก็อยากให้ประกันสังคมคืนค่าทำศพกรณีเสียชีวิตให้ก่อน เราอยากใช้เงินก่อนตาย ตายไปแล้วเงินก้อนนี้จะมีประโยชน์อะไร”

เธอบอกว่าเวลาพบปะเพื่อนบ้านในละแวก บทสนทนาแรกๆ ที่ทุกคนจะหยิบยกมาพูดคุยกันคือการถามว่าอีกฝ่ายได้รับเงินเยียวยาหรือยัง เธอกล่าวว่าเป็นการปรับทุกข์และเก็บข้อมูลไปในตัวว่าความช่วยเหลือนี้ถึงหรือไม่ถึงใครแล้วบ้าง

“พี่เป็นวินมอเตอร์ไซค์ป้ายเหลือง (มีใบอนุญาตอย่างถูกต้อง) เป็นกลุ่มที่รัฐบอกว่าจะได้รับเงินแน่ๆ แต่ก็ยังไม่ได้ สอบถามวินฯ คนอื่นๆ ก็บอกเหมือนกันว่ายังไม่ได้ ทั้งที่พี่เห็นบางคนขายของออนไลน์ บางคนดูมีฐานะกว่าเราก็ได้เงินมาแล้ว”

ช่วงที่ผ่านมามีข่าวว่ามีผู้ลงทะเบียนรายหนึ่งได้รับเงินไปตั้งแต่ล็อตแรก แล้วโพสต์ลงเฟซบุ๊กในทำนองว่าเป็นเพียงเงินจำนวนเล็กน้อยที่ได้มาอย่างง่ายดาย ไม่มีความหมายใดเป็นพิเศษ ทำให้มีผู้เดือดร้อนอีกจำนวนมากที่ยังคงรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์สาวรายนี้เป็นจำนวนมาก ก่อเป็น กระแสทะเลาะกันเองอยู่พักใหญ่ว่าใครควรมีสิทธิ์ในเงิน 5,000 บาทต่อเดือนบ้าง แต่นางเห็นตรงข้ามว่าถึงแม้เธอจะหมั่นสำรวจว่าในละแวกบ้านมีใครได้เงินไปก่อนแล้วบ้าง ความรู้สึกที่มีต่อกันก็ไม่จำเป็นต้องเป็นความรู้สึกเชิงลบเสมอไป

“พี่ไม่ได้โกรธคนที่เขาดูเดือดร้อนน้อยกว่าแต่ได้เงินก่อนพี่ จะไปโกรธเขาทำไม เขาอาจจะเดือดร้อนจริงก็ได้ แต่รัฐบาลต้องมีวิธีการคัดกรองคนให้ดีกว่านี้ กระจายเงินให้ดีกว่านี้ ให้ถึงมือคนยากจน”

ในระหว่างรอเงินเยียวยาจากรัฐส่งตรงเข้าบัญชีตามสิทธิที่พึงได้ เธอพูดติดตลกเป็นเชิงเข้าใจว่า “อย่างพี่เนี่ย คนนอกเขามองก็คิดว่ามีเงิน มีที่ไหนกันล่ะ”

ช่วงที่แย่ที่สุดของชีวิตที่มองไม่เห็นอนาคต

‘กร’ พนักงานนวดหญิงวัย 50 ปีจากจังหวัดภูเก็ตตัดสินใจเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดปทุมธานีหลังจากมีการระบาดของโรค Covid-19 และรัฐบาลมีประกาศปิดกิจการประเภทบันเทิงชั่วคราว ร้านนวดที่กรเคยทำงานแลกกับรายได้ราว 1,000 บาทต่อวันก็ปิดลงไปด้วย

เดิมกรกับสามีเช่าห้องพักราคาถูกอยู่ด้วยกันในจังหวัดภูเก็ต เธอเล่าว่าค่าครองชีพที่ภูเก็ตสูงมากโดยเฉพาะเมื่อไม่มีรายได้ ตนเองคิดถูกที่เดินทางกลับมาพักที่บ้าน เพราะอย่างน้อยบ้านที่จังหวัดปทุมธานีก็ผ่อนหมดแล้ว มิฉะนั้นคงได้นั่งๆ นอนๆ ในบ้านเช่าราคาแพง รังแต่จะเพิ่มทั้งค่าใช้จ่ายและความเครียด

“คนชอบพูดกันว่าทำงานจังหวัดภูเก็ตนี่รายได้ดี” เธอเล่า “แต่ค่าครองชีพสูง แต่ละวันจ่ายค่าอาหารไปแล้ววันละ 200-300 บาท ซึ่งถือว่ากินอย่างประหยัดมาก แกงถุงหนึ่งก็ 50 บาทแล้ว คุณภาพชีวิตไม่ค่อยดี ไม่ค่อยมีโอกาสได้กินของดีๆ”

กรบอกว่าตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคมที่รัฐบาลสั่งปิดกิจการกลุ่มงานบริการชั่วคราว จนถึงวันนี้ เป็นช่วงที่แย่ที่สุดของชีวิตที่มองไม่เห็นอนาคตว่าการระบาดนี้จะกินเวลายาวนานแค่ไหน กิจการจะต้องปิดจนถึงเมื่อไร ไม่มีใครรับรองอนาคตในวันพรุ่งนี้ให้เธอได้ เธอกล่าวว่าที่ผ่านมามีแต่ข่าวว่ารัฐบาลกักตุนสินค้าจำเป็น แต่ไม่ได้จริงจังในการเยียวยาคนจน

“รัฐไม่ได้เยียวยาคนจน ของแจกก็เป็นเพียงการสงเคราะห์จากรัฐบาลและได้ไม่ทั่วถึงกัน” เธอชี้ให้เห็นว่าความช่วยเหลือเดียวที่มาถึงนับแต่กลับมาอยู่บ้านคือหน้ากากอนามัย 2 ผืนที่ได้รับจาก อบต.

กรลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาโครงการเราไม่ทิ้งกันตั้งแต่วันแรกที่เปิดระบบให้กรอกข้อมูล แต่ก็พบปัญหาคล้ายของนาง คือไม่สามารถลงทะเบียนได้เพราะระบบอ้างว่าเลขบัตรประชาชนของเธอไม่ถูกต้อง

“ร้านนวดลงทะเบียนให้พนักงานรวม 19 คน ลงทะเบียนสำเร็จ 9 คน เหลืออีก 10 คนที่ยังไม่ผ่าน”

หนึ่งในสิบคนนั้นคือกร เธอเล่าว่าร้านลงทะเบียนให้ทั้งสิ้น 4 ครั้งก็ยังไม่สำเร็จ ความหวังที่จะได้เงินแทบไม่มี แม้จะสอบถามเจ้าหน้าที่ธนาคารไปแล้วก็ได้รับคำตอบเพียงว่า ระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ลงทะเบียนอาจจำข้อมูลเลขบัตรประชาชนเดิมซึ่งไม่ถูกต้อง ทำให้การลงทะเบียนครั้งถัดไปไม่ผ่านด้วย

ชีวิตคนไม่ใช่ละคร และไม่ต้องการคำสัญญาลอยลมจากรัฐ

กรบอกว่าระบบการลงทะเบียนของรัฐเข้าถึงได้ยาก หากคนหัวไม่ไวคงกรอกข้อมูลไม่ทันหรือทำรายการได้ช้า เธอให้ความเห็นว่าระบบลงทะเบียนเป็นอุปสรรคใหญ่ในการเยียวยา

“คนทั่วไปเดือดร้อน รัฐก็ควรเยียวยาทุกคน ไม่ใช่ว่าต้องให้มาแย่งกันลงทะเบียนตอนตีหนึ่ง-ตีสอง ยังต้องมานั่งกรอกเอกสารเพื่อขอรับเงินเยียวยาจากรัฐ แถมไม่รู้ว่าเอาระบบอะไรมาคัดกรอง”

เมื่อคำนวณดูแล้ว เงินเก็บของกรเหลืออยู่ไม่มาก ซ้ำจะนั่งรถเมล์ไปหางานใหม่ทำก็กลัวจะติดเชื้อ ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนที่แล้วเธอมีอาการเจ็บคอและครั่นเนื้อครั่นตัวจนต้องไปตรวจหาเชื้อ Covid-19 แต่เวลาผ่านไปเกือบเดือน จนแล้วจนรอดผลตรวจก็ยังไม่ออกจึงสันนิษฐานเอาเองว่าคงไม่เป็นอะไร ที่ผ่านมาเธอได้แต่เก็บตัวอยู่กับบ้านเพื่อลดการแพร่เชื้อระหว่างรอผลตรวจโรค จนถึงตอนนี้กรเก็บตัวมาเรื่อยๆ แต่เปลี่ยนจากการรอผลตรวจมาเป็นรอการเยียวยาเงินจากรัฐแทน

“แนวปฏิบัติรัฐแจกเงินเหมือนใช้เครื่องสุ่ม ชีวิตคนไม่ใช่ละคร รัฐบาลมัวแต่มาพูดกันลอยๆ ไม่ได้ ประชาชนต้องกินต้องใช้จ่ายทุกวัน”

กรบอกด้วยน้ำเสียงเศร้าว่าตอนนี้และในอนาคตไม่ได้วางแผนชีวิตอะไร เพราะไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรต่อ ร้านนวดที่กรเคยทำงานก็ปิดไม่มีกำหนด อย่างน้อยที่ทำได้คือใช้ชีวิตวันต่อวันร่วมกับสามีโดยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

ก่อนจะถึงวันอุทธรณ์ออนไลน์

ไม่เพียงแต่นางและกรเท่านั้น ที่ผ่านมามีอีกหลายคนที่มีสถานะเป็น ‘ผู้ตกหล่น’ จากนโยบายช่วยเหลือของรัฐที่ไม่ครอบคลุมทั่วถึงด้วยสาเหตุต่างๆ กัน บางรายกรอกข้อมูลซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ยังไม่สำเร็จ บางรายลงทะเบียนแล้วแต่ถูกคัดออกด้วยข้อความว่าเป็นเกษตรกรหรือนักเรียนนักศึกษาทั้งที่มั่นใจว่าตนเองมีคุณสมบัติครบเพราะไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรหรือกำลังเรียนอยู่อย่างที่ระบบคัดกรองของรัฐบอก บางรายเดือดร้อนแต่ไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับเงินเยียวยาตั้งแต่ต้น

บรรยากาศการประท้วงหน้ากระทรวงการคลังเป็นไปด้วยความตึงเครียดและหดหู่ วงจร ‘หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ขาดรายได้’ ทำให้แรงงานบางคนถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความคับแค้น เพ็ญ แม่ค้าขายของในตลาดนัด หนึ่งในผู้เดินทางไปร้องเรียนถึงหน้ากระทรวงการคลังพูดทั้งน้ำตาว่า “ทำไมรัฐไม่ช่วย แน่จริงเปิดตลาดให้ขายของก็จะไม่มาง้อเงิน 5,000 บาท” หลายคนหมดสิ้นหนทางถึงขนาดกล่าวว่าจะฆ่าตัวตายหากไม่ได้รับความช่วยเหลือ หลายคนทรุดนั่งเขียนคำร้องในเอกสารบนพื้นนอกอาคารกระทรวงการคลัง ถัดจากเก้าอี้หรูจากภาษีประชาชนที่วางตั้งอยู่ไม่ไกล แต่ถูกเจ้าหน้าที่ปิดประตูกระจกไม่ให้เข้าไปนั่งได้

ทว่าคำตอบที่ผู้ตกหล่นและอับจนหนทางได้รับกลับเป็นการบอกปัดว่าหลังจากนี้ไม่ต้องเดินทางมาที่กระทรวงอีก ให้รอการอุทธรณ์ออนไลน์ซึ่งจะเปิดระบบให้กรอกร้องทุกข์ทุกกรณีอีกครั้งในวันที่ 20 เมษายนแทน ทั้งที่ประชาชนที่เดินทางมาร้องเรียนในวันนั้นจำนวนมากชี้แจงกับสื่อมวลชนที่มารอทำข่าวไปตั้งแต่ต้นแล้วว่าตนและเพื่อนๆ ใช้ระบบออนไลน์ไม่คล่อง

ทักษะการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีไม่ควรกลายเป็นเครื่องมือกีดกันการเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือ นางและกรเสนอให้รัฐกระจายอำนาจและงบประมาณสู่ท้องถิ่น ให้เขตพื้นที่หรือหมู่บ้านที่มีข้อมูลกันดีอยู่แล้วเป็นผู้ช่วยกระจายเงินเยียวยากันเอง เพื่อแก้ปัญหาการพิจารณาที่ล่าช้าจากส่วนกลาง กลุ่มผู้เดือดร้อนบางคนเสนอไปไกลกว่านั้นโดยการยกเลิกเกณฑ์อาชีพออก เน้นเยียวยาทุกคนโดยไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนพิสูจน์ความยากจน

ในบรรยากาศมืดมิดที่รัฐบาลยังมะงุมมะงาหรา ประชาชนยังยากที่จะวางใจได้ว่า หากเปิดระบบอุทธรณ์ออนไลน์แล้วยังไม่ได้ผล ในขณะที่ข้าวสารในครัวพร่องลงไปทุกที ชีวิตจากนี้จะทำอย่างไรต่อ

ขอบคุณข้อมูลจาก